โครงการ"อู่ต่อ-ซ่อมเรือ"ขององค์การสะพานปลาภูเก็ต ไม่สามารถฝ่าแนวต้านของกลุ่มชาวประมง และชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง ที่ออกโรงคัดค้าน โดยชี้ว่าโครงการนี้ที่เปิดประมูลให้บมจ.มาร์ซัน เป็นผู้เข้ามาลงทุน จะส่งผลกระทบต่อการเดินเรือเทียบเรือของเรือประมง และเรือชาวบ้านที่สัญจร เกิดการทำลายพื้นที่ป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ รวมทั้งเป็นการใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์จากที่กรมป่าไม้มอบพื้นที่ให้เพื่อดำเนินการสะพานปลา แม้เอกชนพยายามชี้แจงว่า โครงการนี้จะสร้างอาชีพและรายได้แก่คนในพื้นที่ เกิดอุตสาหกรรมซ่อมเรือต่อเรือ รวมถึงมารีนา รองรับยุทธศาสตร์พัฒนาของจังหวัด แต่ในท้ายสุดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สั่งเบรกโครงการอู่ต่อเรือและตีเส้นกันพื้นที่ที่เหลือทำป่าชุมชนแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ท่าเทียบเรือประมง องค์การสะพานปลาภูเก็ต นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พร้อมคณะฯ เดินทางมาร่วมประชุมติดตามการร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ คัดค้านการก่อสร้างอู่ซ่อมสร้างเรือ ของบริษัท มาร์ซัน จำกัด(มหาชน)(บมจ.) โดยมีฝ่ายปกครองในพื้นที่ อาทิ นายวงศกร นุ่นชูคันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายสมปราชญ์ ปราบสงคราม นายอำเภอเมืองภูเก็ต นายชาญชัย ตันวชิรพันธ์ กำนันตำบลรัษฎา ตลอดจนกลุ่มผู้คัดค้านนำโดยนายสมยศ วงศ์บุญยกุล นายกสมาคมชาวประมงภูเก็ต พร้อมชาวบ้านและชาวประมงในพื้นที่ รวมกว่า 150 คน ร่วมหารือ
นายโสภณแจ้งต่อที่ประชุมว่า การเดินทางมาลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตครั้งนี้ เพื่อติดตามการร้องเรียนของประชาชน ที่คัดค้านการก่อสร้างอู่ซ่อมสร้างเรือของบมจ.มาร์ซัน ที่บริเวณสะพานปลาภูเก็ต ซึ่งก่อนหน้านี้ องค์การสะพานปลาได้รับการอนุญาตให้เข้าใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้เดิมมาตั้งแต่ปี 2555 พื้นที่ได้รับอนุญาตมีจำนวน 375 ไร่ ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ไปแล้ว 175 ไร่ เพื่อทำท่าเทียบเรือประมง
สิ่งที่ประชาชนในพื้นที่มีความกังวลคือ การสร้างอู่ต่อเรือของบมจ.มาร์ซัน ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล โดยเสนอราคาค่าตอบแทนให้กับองค์การสะพานปลาสูงสุด ซึ่งกระบวนการประมูลถูกต้องตามระเบียบทุกอย่าง
แต่ทั้งนี้ทางกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้เล็งเห็นว่า ทรัพยากรป่าไม้เป็นแหล่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้พึ่งพิงทำมาหากิน และเป็นป่าที่ให้ความร่มเย็น ฉะนั้น ทางกรมทรัพยากรฯคงต้องกลับมาทบทวนคำสั่ง ที่จะอนุญาตให้ทางบริษัทฯเข้ามาทำอู่ต่อเรือ
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวอีกว่า ในส่วนพื้นที่ 198 ไร่ที่เหลือจาก 375 ไร่นั้น ทางกรมฯจะกันพื้นที่นั้นกลับคืนมาให้อยู่ในการดูแลของกรมฯ จากนั้นจะส่งมอบให้ประชาชนผ่านท้องถิ่น คือเทศบาลตําบลรัษฏา เพื่อจะได้เข้ามาดูแลร่วมกัน ในการฟื้นฟูสภาพพื้นที่โดยการปลูกต้นไม้เสริม และอาจจะมีการพัฒนาเป็นป่ากลางเมืองเป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชนที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกันต่อไป
นายโสภณ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนทางบมจ.มาร์ซันนั้น ถ้าจะอุทธรณ์หรือร้องเรียน ก็ถือเป็นสิทธิ์ที่จะทำได้ในฐานะผู้ชนะการประมูล แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นนั้น ทางบริษัทฯยังไม่ได้มีการทำสัญญาค่าผลประโยชน์ตอบแทนตามระเบียบ เพราะฉะนั้น ถือว่ายังอยู่ในวิสัยที่จะทำการยับยั้งการดำเนินการโครงการดังกล่าวได้ เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามแบบในการก่อสร้างนั้นจะต้องมีการเปิดป่าใหม่ถึง 11 ไร่ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ประชาชนและกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเห็นดีเห็นงาม ให้มีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อก่อสร้างอุตสาหกรรมหนักในพื้นที่
ด้านนายสมยศ วงศ์บุญยกุล นายกสมาคมชาวประมงภูเก็ต เป็นตัวแทนกล่าวว่า วันนี้ทางพี่น้องชาวประมงและประชาชนในพื้นที่ มาร่วมประชุมเพื่อแจ้งถึงความเดือดร้อน เพราะที่ทำมาหากินตรงจุดนี้ เป็นที่ที่ชาวประมงเคยจอดเรือ เป็นที่ที่เคยขึ้นปลากำลังจะถูกทำลาย แต่ก็โชคดีที่หน่วยงานภาครัฐเล็งเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ และรับฟังเสียงของประชาชน จึงขอขอบคุณกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ทบทวนมติให้ระงับโครงการก่อสร้างอู่ต่อเรือของเอกชนในพื้นที่แห่งนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชาวประมงรวมพลต้าน"อู่ต่อ-ซ่อมเรือ"สะพานปลาภูเก็ต
ฝันร้าย ธุรกิจโรงแรมภูเก็ต 16,400 ห้อง รอทะลัก