วันที่15 กันยายน มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดเวทีระดมความเห็นหัวข้อ “ตอบโจทย์กองสลาก...หวยแพงแก้ไม่ได้” โดยมีผู้แทนเครือข่ายเด็กและเยาวชน เครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค เครือข่ายผู้ค้าสลาก และนักวิชาการร่วมแสดงความเห็น
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการและสื่อมวลชน กล่าวว่า การแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มจำนวนการพิมพ์สลาก ถือเป็นความเข้าใจกลไกตลาดที่ผิด การคิดว่าเพิ่มปริมาณแล้วจะทำให้ราคาลดลงนั้นใช้ไม่ได้กับกรณีนี้ วิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุดที่อยากเสนอคือ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อทุกคนสามารถซื้อสลากแบบเดิมเลขหกหลักนี้โดยตรงกับสำนักงานสลากฯ ผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งหากทำได้เช่นนี้จะทำให้เกิดการประหยัดต้นทุนค่าบริหารจัดการได้เกือบ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี
อีกทั้งยังสามารถนำเงินส่วนนี้กลับคืนให้ผู้ซื้อที่ไม่ถูกสลากผ่านรูปแบบเงินออมในบัญชีกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งอาจจะให้ได้ถึงใบละ 10 บาท เพื่อเป็นบำนาญในอนาคต เท่ากับว่าช่วยจูงใจให้ประชาชนเกิดการออมเงินไปในตัว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในสภาพเศรษฐกิจจากนี้ไป
ปัจจุบันคนไทยซื้อสลากรวมกันเป็นเงินเกือบ 2 แสนล้านบาทต่อปี ในแต่ละงวดของการออกสลากทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นเรื่อย ๆ เกิดความแตกต่างระหว่างรายได้ เพราะมีคนที่ได้กระจุกตัวเพียงคนส่วนน้อย แต่คนส่วนใหญ่ที่เหลือเสียทั้งหมด
ฉะนั้น เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาสลากแพง แต่คือการแก้ปัญหาการกระจายรายได้ และการส่งเสริมการออม ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลสมควรทำอย่างยิ่ง
"ไม่อยากโทษว่าที่ผ่านมาเป็นความล้มเหลวของบอร์ด เพราะบอร์ดกลัวจะไปกระทบกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องจึงไม่กล้าทำอะไร แต่ผมอยากทวงสัญญาจากรัฐบาลมากกว่า” ดร.เจิมศักดิ์กล่าว
ด้านนายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า ข้อเสนอของภาคประชาสังคมต่อการแก้ปัญหาสลากแพงยืนอยู่บนหลักการสำคัญ3ประการ คือ หนึ่ง ประชาชนผู้บริโภคพึงได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ในการสามารถซื้อสินค้าและบริการได้ตามราคาที่กฎหมายกำหนด สอง สลากเป็นการพนันเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคม จึงต้องจำกัดปริมาณและการเข้าถึง ฉะนั้น การพิมพ์สลากเพิ่มไม่ใช่การแก้ปัญหา
สาม การนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด และยังสามารถช่วยประหยัดต้นทุน ทำให้มีงบประมาณเหลือจะมาทำประโยชน์แก่สังคมได้ เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายรู้และเข้าใจดี แต่จะทำหรือไม่ขึ้นอยู่กับความกล้าหาญเท่านั้น
นายพัชรพล แดงสีดา เครือข่ายเยาวชน กล่าวว่า เด็กและเยาวชนถูกดึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการซื้อสลาก และซึมซับความเชื่อนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ที่ผ่านมามาตรการต่าง ๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนเท่าที่ควร ที่ชัดเจนคือคำเตือนว่า “ไม่ขายไม่ซื้อสลากกับเด็กอายุต่ำกว่า 18ปี” ซึ่งเคยพิมพ์อยู่บนสลากทุกใบ ได้หายไปจากสลากที่ขายในปัจจุบัน
" คำเตือนที่หายไปน่าจะสะท้อนถึงความไม่จริงใจต่อความรับผิดชอบของตนเอง ซึ่งเป็นการแสดงออกที่เล็กน้อยมาก สำนักงานสลากต้องมีบทบาทในเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น ไม่ใช่สนใจแต่เรื่องการขายสลากเพียงอย่างเดียว "
นายไพบูลย์ กุดเป่ง เครือข่ายผู้ค้าสลาก 5 ภาคกล่าวว่า ปัจจุบันการกระจายสลากยังเป็นสองระบบ ได้แก่ระบบโควตาและระบบเสรี โดยราคาของระบบโควตาจะเป็นตัวชี้นำราคาสลากในงวดนั้น เพราะสามารถรวมชุดใหญ่ได้ ดังนั้น สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจึงควรแก้ปัญหาระบบให้จริงจังก่อนที่จะไปคิดเรื่องการพิมพ์สลากเพิ่ม
"ต้องจัดการสลากเท่าที่มีอยู่ก่อน สกัดโควตาการขายหวยชุดให้น้อยลง ขณะเดียวกันต้องคัดกรองผู้ขายตัวจริง เพราะมีจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นผู้ขายจริงแต่เข้ามาขายส่ง ทำให้ผู้ขายมีต้นทุนเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเพราะต้องซื้อราคาขายส่งมาขายปลีก "
ด้าน น.ส.บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาสลากแพงสะท้อนถึงความไร้น้ำยาของภาครัฐ การพิมพ์สลากเพิ่มมาหลายครั้งทั้งที่รู้ว่าแก้ไขปัญหาไม่ได้ เป็นการทำผิดซ้ำซาก ซึ่งหากแก้ไม่ได้คณะกรรมการก็ควรลาออกทั้งชุด