ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการพัฒนาแรงงานภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยมีหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงานเข้าร่วม ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ศาสตราจารย์ นฤมล เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จึงมีแนวทางที่จะสร้าง Training Platform เพื่อแนะนำหลักสูตรพัฒนาทักษะที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ตลอดจนนำหลักสูตรการฝึกอบรมออนไลน์ทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งหมดในประเทศไทยมาไว้ที่เดียว
สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีเป้าหมายที่จะพัฒนาฝีมือแรงงาน 4.13 ล้านคน ดำเนินการโดย กพร. กว่า 1.3 แสนคน และส่งเสริมสถานประกอบกิจการดำเนินการ 4 ล้านคน ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545
ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) มีนโยบายการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อยกระดับกระทรวงแรงงานไปสู่ “กระทรวงด้านเศรษฐกิจ” ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
โดยใช้แนวคิดหลัก 3 ประการคือ “สร้าง-ยก-ให้” สร้างแรงงานคุณภาพให้มีความรู้และทักษะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน รองรับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC เพื่อ ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อให้ได้รับอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้น
"ผลจากการประชุมหารือในวันนี้ ผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรมได้ขอให้ช่วยเหลือด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน เช่น ร่วมกับกระทรวงศึกษา กำหนดหลักสูตรการฝึกอบรมให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน สร้างฐานข้อมูลตลาดแรงงานที่เป็น Big data รวมไปถึงบูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและลดขั้นตอนการทำงาน และเพิ่มเติมทักษะด้านภาษา เช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น "
ขณะเดียวกันผลจากการประชุมหารือในครั้งนี้ จะนำเข้าสู่คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.พช) เพื่อขับเคลื่อนต่อไป
หลังจากนั้น รมช.แรงงาน ได้เป็นประธานงานสรุปผลการดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สู่ SME 4.0 และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สถานประกอบกิจการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 185 แห่ง ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก ดินแดง กรุงเทพมหานคร
สำหรับโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ SME 4.0 เป็นอีก 1 โครงการ ที่มุ่งเน้นทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงาน และผู้ประกอบกิจการ เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการพัฒนาวิธีคิดวิเคราะห์เชิงระบบ เพื่อค้นหาสาเหตุ ข้อจำกัด ปัญหาอุปสรรคในการทำงานและประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิชาการ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมนำไปพัฒนา ปรับปรุง แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล และขับเคลื่อนผ่านกลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วนตามแนวทาง “ประชารัฐ” ทำให้กำลังแรงงานผู้ประกอบกิจการได้รับประโยชน์จากการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และยกระดับฝีมือแรงงานพนักงานให้มีศักยภาพสูงขึ้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่สถานประกอบกิจการอย่างเป็นรูปธรรม
ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในปี 2563 นั้น สามารถมีผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 40.09 ลดการสูญเสียในวงจรการผลิตหรือบริการเฉลี่ยร้อยละ 40.38 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ คิดเป็นเงินมากกว่า 433 ล้านบาท และสามารถพัฒนาทักษะพนักงานในสถานประกอบกิจการให้มีศักยภาพแรงงานสูงขึ้น จำนวน 15,879 คน
สร้างนักพัฒนาผลิตภาพแรงงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 258 คนโดยพัฒนาทักษะเพิ่มองค์ความรู้ และประสบการณ์จากการฝึกอบรมอย่างเข้มงวด ซึ่งการสรุปผลโครงการในวันนี้ มีผู้บริหารภาครัฐและภาคเอกชน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน รวม 660 คน