กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ออกวิทยุด่วนที่สุด ลงวันที่ 17 กันยายน 2563 ลงนามโดย นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื้อหาระบุ ดังนี้
ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 7 ลงวันที่ 17 กันยายน 2563 เรื่อง พายุระดับ 3 (โซนร้อน) "โนอึล" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางประมาณ 600 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือ ด้วยความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นอีก คาดว่า จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง และเคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงวันที่ 18-20 กันยายน 2563
ประกอบกับมรสมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมาก และมีลมแรงบริเวณภาคใต้
ขอให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากและระวังอันตรายจากลมแรง โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมในทะเลอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎรธานี พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุกภัยและคลื่นลมแรง จึงขอให้อำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1.แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยที่ราบลุ่ม/ที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน ให้ระมัดระวังอุทกภัยจากปริมาณฝนที่เพิ่มมากขึ้น และปริมาณน้ำสะสมที่อาจเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง ในระยะ 2 – 3 วันนี้ (วันที่ 18 – 20 กันยายน 2563)
2.ให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคทุกสาขาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมการเดินเรืออย่างใกล้ชิด ผู้โดยสารเรือทุกคนต้องสวมเสื้อชีพ เรือสปิดโบ๊ท เรือประมง เรือโดยสารและเรือเฟอร์รี่ ควรพิจารณาเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุตุฯเตือนฉบับที่ 7 "พายุ" โซนร้อนโนอึล แนวโน้มทวีกำลังแรงขึ้นอีก
ผู้ว่าฯกทม.เตรียมรับมือฝนตกหนักจาก"พายุโนอึล”เข้าไทย 18-20 ก.ย.
3.ให้อุทยานทุกแห่ง หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นน้ำตก ถ้ำ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ถ้าสถานการณ์วิกฤติให้ดำเนินการปิดหรือห้ามเข้าโดยเด็ดขาด
4.เตรียมความพร้อมตามแผนเผชิญเหตุ ทรัพยากร เครื่องมือ อุปกรณ์ กำลังเจ้าหน้าที่ให้พร้อมปฏิบัติงาน อำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย ตลอด 24 ชั่วโมง
5.หากเกิดสาธารณภัยขึ้นให้รายงานสถานการณ์เหตุด่วนให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฏร์ธานีทราบโดยเร่งด่วน ทางหมายเลขโทรศัพท์ 0-7727-5551, 275-847 โทรสารอัตโนมัติ 0-7727-5848 และทางวิทยุสื่อสาร "ศูนย์ชัยพฤกษ์" ความถี่ 153.775 MHZ / 151.150 MHZ จนกว่าสถานการณ์จะยุติ