ภาคเอกชนระนองขานรับสนั่น มติครม.อนุมัติงบ 68 ล้านบาท จ้างศึกษาโครงข่ายคมนาคมพัฒนา SEC เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งข้ามคาบสมุทรเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ภาคใต้ หาโมเดลเปิดทางเอกชนลงทุนพีพีพี
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อ 15 กันยายน 2563 อนุมัติให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้(SEC) เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ วงเงิน 68 ล้านบาทเศษ
ที่ผ่านมาครม.เห็นชอบหลักการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน(SEC) เมื่อ 14 พ.ค. 2562 ครอบคลุม 4 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เชื่อมโยงฐานการผลิตกับพื้นที่อีอีซี และให้ระนองเป็นประตูการค้าด้านตะวันตกทางทะเล ต่อมาอนุมัติแผนการพัฒนาวงเงินรวม 1.06 แสนล้านบาท เมื่อ 23 ม.ค.2563 โดยแผนงานหัวใจคือ ทางรถไฟสายใหม่จากชุมพรถึงท่าเรือระนอง เป็นระบบรางข้ามคาบสมุทรสายแรก และเพิ่มศักยภาพท่าเรือน้ำลึกระนอง
นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานคณะกรรมการหอการค้า จ.ระนอง เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มติ ครม.15 ก.ย. 2563 อนุมัติงบจ้างที่ปรึกษาศึกษาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมเพื่อพัฒนาSEC เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามันครั้งนี้ ยิ่งตอกย้ำความมั่นใจแก่ประชาชนในพื้นที่ ว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งเอกชนถือว่า นี่คือกุญแจสำคัญการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการขนส่งของไทย โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของเมืองท่าขนถ่ายสินค้าฝั่งอันดามัน ซึ่งปัจจุบันไทยยังไม่มีเมืองท่าในย่านนี้
“การส่งเสริมยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้ได้รับการสนับสนุน และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น การประชุมปฐมนิเทศโครงการ นับเป็นโอกาสอันดีให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะต่าง ๆ รวมทั้งประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ”
นายนิตย์กล่าวต่อว่า ภายใต้แผน SEC ตั้งเป้าหมายให้ระนองเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตกทางทะเล เชื่อมโยงการค้ากับกลุ่มประเทศบิมสเท็ค ทำให้มีผู้ประกอบการเดินเรือเริ่มเข้ามาศึกษาโอกาสเปิดเส้นทางการเดินเรืออีกครั้ง ยิ่งหากมีเส้นทางรถไฟเข้ามาเชื่อมโยงจะยิ่งเร่งให้เกิดการลงทุนเร็วขึ้น ซึ่งการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ตั้งงบประมาณพัฒนาท่าเรือระนองให้รองรับเรือและปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งปัดฝุ่นโครงการคอนเทนเนอร์แลนด์ยาร์ดที่ จ.ชุมพรอีกครั้ง เพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญในการขนถ่ายสินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์จากฝั่งอ่าวไทยมายังฝั่งอันดามัน สามารถรองรับฐานการผลิตจากพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี.)
“โครงการนี้เป็นไปได้มากกว่าเรื่องคอคอดกระ หรือการขุดคลองเชื่อมอ่าวไทย-อันดามันมาก ซึ่งจุดแข็งของท่าเรือระนอง คือ กายภาพที่มีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลฝั่งอันดามัน และจะเป็นฮับขนส่งทางทะเล ของกลุ่มประเทศบิมสเท็คในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ได้ แต่ต้องมีการพัฒนาและสนับสนุนเป็นขั้นตอนจึงจะเกิดขึ้นได้
ส่วนทางรถไฟสายใหม่ชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนองนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบแนวสายทางไว้แล้ว หากเห็นชอบให้ลงทุนก็พร้อมดำเนินการได้ทันที นอกจากนี้กรมทางหลวงได้ขยายถนนเพชรเกษม ช่วงชุมพร-ระนอง ให้เป็น 4 เลนแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการต่อสายทางจากระนองมุ่งหน้าพังงา เกิดถนนเพื่อการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามันด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ร้องปลดล็อกที่ดิน ระนอง ย่านธุรกิจทับป่าชายเลน
กทท.ทุ่มงบ 41.8 ลบ. ปรับโครงสร้าง “ท่าเรือระนอง” เชื่อมกลุ่ม BIMSTEC