ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดการประชุมหารือการขอขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการช่วยเหลือและให้สิทธิประโยชน์จูงใจนักลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จชต. วันนี้ (24 ก.ย. 63) ที่ห้องประชุมปัญจเพชร ศอ.บต. เนื่องจากมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ การส่งเสริมและขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่ด้วยมาตรการต่างๆของภาครัฐ ดำเนินการขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2549 โดยหารือร่วมกับ 13 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคาร ธ.ก.ส. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พาณิชย์จังหวัด กฟภ. หอการค้า ผู้แทนกระทรวงการคลัง สภาอุตสาหกรรม โดยประชุมหารือมาตรการสิทธิประโยชน์ทางการคลังและการเงินในพื้นที่ จชต.
สำหรับมาตรการช่วยเหลือ สร้างความจูงใจในการลงทุนในพื้นที่จชต. ดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 โดยคณะรัฐมนตรีมีความเห็นชอบหลักการ มาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ พื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา เฉพาะทางที่อำเภอจะนะ เทพา นาทวีและอำเภอสะบ้าย้อย และจังหวัดสตูลได้แก่มาตรการเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและจูงใจสำหรับผู้ประกอบการ โดยมาตรการสร้างหลักประกันทางสังคมสำหรับแรงงานและมาตรการเพื่อสร้างขวัญกำลังใจสำหรับประชาชน
มาตรการพิเศษเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการประชาชน และสิทธิประโยชน์จูงใจนักลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลายด้าน อาทิ มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ จชต. โดยให้สิทธิประโยชน์สำหรับโครงการลงทุนใหม่ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ไม่จำกัดวงเงิน ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ลดหย่อนภาษี ลดหย่อนอากรขาเข้า ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบ อนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในโครงการที่ได้รับการส่งเสริม เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนภายใต้โครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้แก่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออกหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สำหรับกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย มาตรการโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน มาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของธนาคาร ธ.ก.ส. โครงการสินเชื่อสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นต้น โดยในแต่ละมาตรการและโครงการมีหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขเพื่อสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการและประชาชนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมมีความเห็นขยายระยะเวลาในแต่ละมาตรการที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 นี้ เห็นควรขยายมาตรการต่อไปอีก 3 ปี ในปี 2564 – 2566
ที่มา : ข่าว ศอ.บต.