กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ตั้งวงคุยผู้ประกอบการชาไทย โอกาสชาไทยในยุคการค้าเสรีที่เชียงราย เมืองหลวงชาไทย ชี้มีศักยภาพปลุกผู้ประกอบการยกระดับสร้างแบรนด์ตนเองพร้อมบุกตลาดโลก โดยใช้ข้อตกลงการค้าเสรีเป็นตัวช่วย
วัฒนธรรมการดื่มชานั้น เชื่อว่าเริ่มต้นมาจากประเทศจีน การดื่มชาไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ดับกระหายเท่านั้น แต่คนจีนเชื่อว่าชาช่วยทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น สามารถช่วยให้ร่างกายต้านทานโรคต่างๆ ได้ดี และในโลกของทุกวันนี้ไม่เพียงแต่คนจีนเท่านั้นที่ชื่นชอบการดื่มชา แต่กลับกลายเป็นความนิยมของคนทั่วโลก ว่ากันว่าตอนนี้ชาได้กลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมอันดับที่ 2 รองจากน้ำเปล่าเท่านั้น
ตำราชาบอกว่า มีชาทั่วโลกมากกว่า 3,000 ชนิด แต่แท้จริงแล้วทั้งหมดมาจากต้นชาชนิดเดียวกัน ไม่ว่าจะชาจีน ชาอินเดีย ชาศรีลังกา ชาญี่ปุ่น ชาอังกฤษ แตกต่างเพียงที่วัฒนธรรมการดื่ม ที่นำไปสู่การผลิต การชง การปรุงแต่งรสที่แตกต่าง
เชียงราย-เมืองหลวงแห่งชาไทย
จังหวัดเชียงรายได้ชื่อว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งชาไทย” เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในประเทศ คือประมาณ 85,000 ไร่ จากพื้นที่การปลูกชาทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 150,000 ไร่ รองลงไปเป็นเชียงใหม่ ประมาณ 55,000 ไร่ ที่เหลืออีกประมาณ 10,000 ไร่ กระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือตอนบน อาทิ แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน พะเยา และตาก สายพันธุ์ที่ปลูก ร้อยละ 87 เป็นชาอัสสัม หรือชาพื้นเมือง ที่เหลืออีกร้อยละ 13 เป็นชาจีน ผลผลิตทั้งหมดประมาณ 100,000 ตัน ใช้ในประเทศร้อยละ 89 และส่งออกร้อยละ 11 ของผลผลิตทั้งหมด
เมื่อไม่นานนี้ ที่ห้องประชุมภูใจใส เมาน์เทน รีสอร์ต อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นประธานเปิดการเสวนาในหัวข้อ “โอกาสของชาไทยในยุคการค้าเสรี” โดยมี นางสาวปองวลัย พัวพนธ์ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ สำนักสินค้ากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นายทรงเดช ดันสุรัต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ๊กซ์พอร์ต โซน จำกัด (Export Zone co.ltd) นายสมคิด โสภณอำนวยกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์ดอยคอฟฟี่ จำกัด เป็นวิทยากรในร่วมเสวนา ผู้เข้าร่วมการเสวนาเป็นผู้ประกอบการชากาแฟในพื้นที่จังหวัดเชียงราย
ก่อนที่เข้าสู่การเสวนานั้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ลงพื้นที่ไร่ชาในจังหวัดเชียงรายเพื่อเก็บข้อมูล พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการชาเชียงราย ตลอดจนการให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการเจ้าของไร่ชา โรงงานชา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำตลาดในอาเซียน จีน และยุโรป ปรับตัวมุ่งสู่การขายสินค้าสนองความต้องการตลาดเฉพาะ หรือนิชมาร์เก็ต เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลาย โดยใช้ FTA เป็นสะพานให้เติบโตแบบก้าวกระโดด
มั่นใจตลาดชาไทยยังโตได้อีกเยอะ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผย หลังจากลงพื้นที่สำรวจศักยภาพเกษตรกรและผู้ประกอบการชาเชียงราย และการเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน ว่า ในอนาคตต่อไปนี้อุตสาหกรรมชาไทยจะเผชิญทั้งโอกาสและความท้าทายอีกมาก เพราะชาเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว อัตราการบริโภคชาของคนไทยยังไม่สูงมาก เฉลี่ย 0.93 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในขณะที่ชาวอังกฤษบริโภคชาเฉลี่ย 2.74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ชาวฮ่องกงบริโภคเฉลี่ย 1.42 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แสดงให้เห็นถึงโอกาสให้การเติบโตของตลาดชาในประเทศไทย โดยอาจส่งเสริมให้ผู้บริโภคดื่มชาเพิ่มขึ้น โดยใช้จุดขายเรื่องสินค้าชาอินทรีย์ และการดื่มชาเพื่อสุขภาพ ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตามรสนิยมผู้บริโภคในลักษณะ DIY และรูปแบบการบริโภคใหม่ๆ การเพิ่มช่องทางการขาย
“ประเทศไทยสามารถปลูกชาในระดับอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากไร่ชาภาคเหนือมีอยู่แล้วจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาจะผลิตเพื่อส่งขายจีนเป็นวัตถุดิบ หรือเป็นชาสำเร็จรูปส่งออกไปยังไต้หวัน หรือขายเป็นชาราคาเกรดทั่วไป เพื่อส่งให้กับร้านชาในประเทศ อุตสาหกรรมชาของไทยจึงเป็นไปในลักษณะรับจ้างผลิตหรือ โออีเอ็ม เป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดีขณะนี้เริ่มมีการสร้างแบรนด์สินค้าชาของคนไทยขึ้นมา และมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นตามลำดับ นอกจากศักยภาพอุตสาหกรรมชาไทยแล้ว กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในภาครัฐและเอกชน เกี่ยวกับแนวทางจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ และจะรวบรวมประเด็นต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนต่อไป” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าว
ไร่ชาฉุยฟงหวังใช้ FTA เบิกทางสู่ชาโลก
ด้านนางสาวธัญญา วนัสพิทักษ์สกุล ผู้บริหารไร่ชาฉุยฟง เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมาผลผลิตชาของไร่ชาฉุยฟง ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและภาวะเศรษฐกิจ รวมไปถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ส่งผลทำให้รายได้จากการจำหน่ายชาลดลง และในช่วงต้นปีอากาศแห้งแล้ง ส่งผลให้มีผลผลิตน้อยลง เพราะผลผลิตชานั้นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเป็นหลัก
ในส่วนของการแข่งขันกับชาต่างประเทศนั้น ชาไทยได้รับผลกระทบจากส่วนแบ่งทางการตลาดน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นชาฝรั่งที่นำเข้ามา ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคเป็นคนละกลุ่มกันกับผู้บริโภคชาไทย ทำให้ส่วนแบ่งทางการค้าจึงไม่มีผลกระทบมากนัก แต่เมื่อเทียบกับชาที่นำเข้าจากจีน ซึ่งเป็นกลุ่มชาประเภทเดียวกันกับชาที่ผลิตในไทย เช่น ชาเขียว ชาดำ ก็จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดบ้างแต่ก็ไม่มากเท่าไหร่
“ไร่ชาฉุยฟง ผลิตทั้งชาสมัยใหม่ และชาดั้งเดิมที่ชงดื่มด้วยใบชา เช่น ชาแดง ชาอู่หลง ชาเขียว นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาโดยนำชาไทยไปผสมกับสมุนไพรท้องถิ่น เช่น ตะไคร้ ข้าวคั่ว ที่เป็นข้าวของเชียงราย เปเปอร์มิ้นต์ และสมุนไพรต่างๆ ด้วย” นางสาวธัญญา วนัสพิทักษ์สกุล ผู้บริหารไร่ชาฉุยฟง กล่าวและว่า ที่สนใจเข้าร่วมการสัมนาครั้งนี้ อยากศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง FTA (free trade agreement) ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดในธุรกิจชาได้ โดยอาจจะผ่านทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศไปก่อนในระยะแรก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกงานเทรดแฟร์ (งานแสดงและจำหน่ายสินค้า) หรือการติดต่อกับลููกค้าต่างประเทศเพิ่มให้มากขึ้น ในส่วนการเจรจาการค้าทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีการจับคู่ธุรกิจกัน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นักธุรกิจได้เข้าถึงผู้ที่ต้องการสินค้าชาได้มาขึ้น” นางสาวธัญญา กล่าว
ชาไทยส่งออกไปประเทศไหน?ไม่ต้องเสียภาษี
“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจช่องทางทำตลาดต่างประเทศ พบว่าสินค้าชาไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA (free trade agreement) ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ ได้ โดยในส่วนของชาเขียวของไทย สามารถส่งออกสินค้าชาโดยไม่เสียภาษีนำเข้าในประเทศในกลุ่มอาเซียน 8 ประเทศ (ยกเว้นเมียนมา) จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ ชิลี ชาดำของไทย สามารถส่งออกสินค้าชาโดยไม่เสียภาษีนำเข้าในอาเซียน 9 ประเทศ จีน เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี ส่วนผลิตภัณฑ์ชาไทย สามารถส่งออกสินค้าชาโดยไม่เสียภาษีนำเข้าในอาเซียน 9 ประเทศ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี
ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2562) ไทยส่งออกสินค้าชาเขียว เฉลี่ย 979.6 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 6.34 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าชาดำ เฉลี่ย 1,401.7 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 6.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าชาสำเร็จรูป เป็นสินค้าในกลุ่มชาและผลิตภัณฑ์ชาที่ไทยส่งออกมากที่สุด เฉลี่ย 9.1 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ กัมพูชา 31 % เมียนมา 20 % และสหรัฐฯ 18 %
ในรอบ 7 เดือนแรกปี 2563 (มกราคม–กรกฎาคม) ไทยส่งออกชาเขียว 492.9 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 17.92% ส่งออกชาดำ 601.8 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 45.54% และส่งออกชาสำเร็จรูป 4,971.1 ตัน คิดเป็นมูลค่า 19.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 47.77%
สำหรับ ปี 2562 ไทยส่งออกชาเขียว 1,057.7 ตัน คิดเป็นมูลค่า 9.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดหลักคือ อินโดนีเซีย 38% เนเธอร์แลนด์ 12% และมาเลเซีย 9% ส่งออกชาดำ 2,256 ตัน คิดเป็นมูลค่า 9.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดหลักคือ อินโดนีเซีย 40% สหรัฐอเมริกา 18% และกัมพูชา 14% และส่งออกชาสำเร็จรูป 7,032.3 ตัน คิดเป็นมูลค่า 24.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดหลักคือ กัมพูชา 31% เมียนมา 20% และสหรัฐอเมริกา 18%
การดำเนินงานในลักษณะเชิงรุกเช่นนี้ ของกรมเจรจราการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจชาภายในประเทศ ที่จะสามารถต่อยอดเพือ “โกอินเตอร์” ไปในตลาดขนาดที่ใหญ่ขึ้นได้ โดยเฉพาะชาวสวนชาในจังหวัดเชียงราย...จังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งชาไทย”
ชัยณรงค์ สีนาเมือง/เชียงราย
รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
นำร่อง “ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน” ขึ้นแท่นอุทยานธรณีระดับโลก
ประมูล ปี64 รถไฟ ทางคู่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ”หดเหลือ3สัญญา