จากกรณีที่หลายฝ่ายกังวลในเรื่องของ เขื่อนขุนด่านปราการชล รับปริมาณน้ำเต็มความจุจะส่งผลกระทบต่อท้ายเขื่อนนั้น ความคืบหน้าล่าสุด นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ออกมายืนยันในวันนี้ (10 ต.ค.) ว่า แม้มีปริมาณน้ำในอ่างฯประมาณ 216 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 96 ของความจุอ่างฯ มีการระบายน้ำวันละประมาณ 1.70 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำนี้จะไหลลงสู่แม่น้ำนครนายก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมชลฯย้ำ"เขื่อนขุนด่านฯ"แข็งแรงดี รับน้ำได้เต็มศักยภาพ ไม่กระทบพื้นที่ด้านท้าย
เร่งระบายน้ำช่วยเหลือพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา
ไขข้อข้องใจ “นาปีต่อเนื่อง” กลุ่มไหน งดทำนา
ข่าวปลอม! ประชาชนเตรียมรับมือ เขื่อนขุนด่านฯ ใกล้แตก
โดยที่สถานีวัดน้ำ Ny.1B ต.เขานางบวช อ เมืองนครนายก เช้านี้ (10 ต.ค. 63)มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 24 ลบ.ม./วินาที (ความจุลำน้ำ 247 ลบ.ม./วินาที) หรือประมาณ 2 ล้าน ลบ.ม./วัน ต่ำกว่าตลิ่ง 4 เมตร ยังสามารถรับการระบายน้ำจากอ่างฯได้อีกประมาณ 223 ลบ.ม./วินาที หรือประมาณ 19 ล้าน ลบ.ม./วัน ซึ่งกรมชลประทาน จะควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม โดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน
เมื่อพลิกดูความเป็นมาของ “เขื่อนขุนด่านปราการชล” รายละเอียดเป็นอย่างไรนั้นติดตามอ่านได้จากบรรทัดถัดจากนี้
เกี่ยวกับโครงการ เขื่อนขุนด่านปราการชล โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ทรงมีพระราชดำริเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2536 เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนม์พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการ และก่อสร้างเขื่อนคลองท่าด่าน ที่บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบน เพื่อช่วยให้ราษฎรทางตอนล่างมีน้ำใช้ทำการเกษตร การอุปโภคบริโภค รวมทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยที่มักจะเกิดขึ้นในเขตจังหวัดนครนายกเป็นเป็นประจำทุกปี เพื่อการอุตสาหกรรม และเพื่อการแก้ไขพื้นที่ดินเปรี้ยวอีกด้วย
สถานที่ตั้ง
ตั้งอยู่ที่บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุน โดยสามารถจัดสรรน้ำให้พื้นที่ชลประทาน ได้ 185,000 ไร่ ด้วยโครงการท่าด่านเดิม 6,000 ไร่ โครงการท่าด่านส่วนขยาย 14,000 ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก 165,000 ไร่
2. เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรม
3. เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตจังหวัดนครนายก
4. เพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวในเขตจังหวัดนครนายก
สภาพทั่วไป
1. ลักษณะภูมิประเทศ อ่างเก็บน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชล อยู่ในลุ่มน้ำนครนายก ซึ่งเป็นลุ่มน้ำย่อย ของลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำนครนายกครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอบ้านนา อำเภอปากพลี และอำเภอองครักษ์ของจังหวัดนครนายก มีเนื้อที่ 2,433 ตาราง-กิโลเมตร ต้นน้ำของแม่น้ำนครนยกเกิดจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งติดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มียอดเขาสูงประมาณ 1,000 - 1,300 เมตร
2. สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของลุ่มน้ำนครนายก ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนตุลาคม
3. สภาพน้ำฝน เนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำมีเทือกเขาดงพญาเย็น (เขาใหญ่) อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแนวปะทะของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้มีฝนตกชุก โดยเฉลี่ยประมาณ2,600 ถึง 2,900 มม./ปี
4. สภาพน้ำท่า ของอ่างเก็บน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชล ข้อมูลน้ำท่าเฉลี่ยมากที่สุดเดือนสิงหาคม มีปริมาณ 70.87 ล้าน ลบ.ม. น้ำท่าเฉลี่ยน้อยที่สุดเดือนมีนาคม มีปริมาณ 0.66 ล้าน ลบ.ม.รวมปริมาณน้ำเฉลี่ยทั้งหมด 292.45 ล้าน ลบ.ม.
ระยะเวลาดำเนินการ : 13 ปี (2540 - 2552)
รายละเอียดโครงการ
เป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบพร้อมส่วนประกอบอื่น มีขนาดความจุอ่างเก็บน้ำ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ผิวอ่างฯ ที่ระดับเก็บกักปกติรวม 3,087 ไร่
1) เขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ ประกอบด้วย
(1) เขื่อนหลัก (Main Dam) เป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัด (Roller Compacted Concrete หรือ RCC Dam) สูง 93 เมตร ระดับสันเขื่อน+112 ม.รทก. ความยาว 2,594 เมตร ปริมาตรคอนกรีตบดอัด 5,470,000 ลูกบาศก์เมตร
(2) อาคารระบายน้ำล้น (Spillway) เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,454 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ผ่านช่องระบาย 4 ช่อง มีรูปลักษณะเป็นฝายที่ระดับ +103.50 ม.รทก. ซึ่งควบคุมด้วย Radial Gate 4 ชุด ขนาดชุดละ 10.00 x 8.40 เมตร
(3) อาคารระบายน้ำลงลำน้ำเดิม (River Outlet) เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ควบคุมอัตราการไหลโดย Fixed Wheel Gate ขนาด 2.00 x 5.00 เมตร และ Butterfly Valve ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.0 เมตร โดยมีระดับธรณีท่อ +28.50 ม.รทก. ระบายผ่านท่อเหล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.0 เมตร และควบคุมการปล่อยลงท้ายน้ำด้วย Hollow Jet Valve Ø 1.80 เมตร สามารถระบายน้ำได้ 42 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
(4) อาคารระบายน้ำ (Bottom Outlet) เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มีระดับธรณี +29.00 ม.รทก. ระบายน้ำผ่านช่องขนาดกว้าง 5.0 เมตร สูง 3.0 เมตร ควบคุมการไหลโดย Fixed Wheel Gate ขนาด 2.50 x 3.90 เมตร และ Radial Gate ขนาด 2.50 x 3.45 เมตร สามารถระบายน้ำได้ 182.0 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งสามารถลดระดับน้ำจากระดับเก็บกักที่ + 110.00 ม.รทก. ลงมาที่ระดับ +70.00 ม.รทก. ภายใน 10 วัน
(5) อาคารส่งน้ำเข้าคลองชลประทาน (lrrigation Outlet) เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ระบายน้ำผ่านท่อสแตนเลส ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.90 เมตร จำนวน 1 ท่อ มีระดับธรณี +38.45 ม.รทก. ควบคุมการไหลโดย Fixed Wheel Gate และ Butterfly Valve ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.70 เมตร รวม 2 ชุด ระบายน้ำลงคลองชลประทานโดย Hollow Jet Valve ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.70 เมตร (2 ชุด) สามารถส่งน้ำเข้าคลองได้รวม 6.05 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
(6) อาคารผันน้ำระหว่างการก่อสร้างเขื่อน ประกอบด้วย
ทำนบดินปิดกั้นลำน้ำเดิม ขนาดสูง 12.00 เมตร ระดับสันทำนบ +39.00 ม.รทก. กว้าง 5.00 เมตร ความยาวรวม 1,084 เมตร
อาคารคอนกรีต Retaining Wall ด้านเหนือน้ำและท้ายน้ำ ขนาดความสูง 12.00 เมตร และ 13.00 เมตร ตามลำดับ
อาคารผันน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กแบบ 2 ช่อง ขนาด 7.00 x 9.00 เมตร และ 6.00 x 9.00 เมตร สามารถระบายน้ำได้ 700 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (Return Period 20 ปี) โดยมีระดับธรณี +27.00 ม.รทก.
(7) เขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ (Saddle Dam) เป็นเขื่อนดินสูง 46.0 เมตร สันเขื่อนที่ระดับ +114 ม.รทก. กว้าง 8.0 เมตร ยาว 350 เมตร ปริมาตรเขื่อน 1,220,000 ลูกบาศก์เมตร
2) ระบบส่งน้ำและระบบระบายน้ำ ประกอบด้วย
(1) พื้นที่โครงการท่าด่านเดิมและส่วนขยาย รวม 20,000 ไร่
(2) พื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก 165,000 ไร่
ประโยชน์ที่ได้รับ
1. ส่งน้ำเพื่อการเกษตรให้แก่พื้นที่ รวม 185,000 ไร่
2. ส่งน้ำเพื่อการอุปโภค - บริโภค 16 ล้าน ลูกบาศก์เมตรต่อปี
3. เกษตรกรได้รับผลประโยชน์ 5,400 ครัวเรือน
4. บรรเทาปัญหาดินเปรี้ยว
5. ลดความเสียหายจากอุทกภัย ได้ร้อยละ 35
การดำเนินงาน
งานเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบแล้วเสร็จสมบูรณ์ และเริ่มเก็บกักน้ำ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547