เปิดสถิติผู้ต้องขังเรือนจำไทยเกือบ 4 แสนรายล้นเกินกำลังเจ้าหน้าที่

13 ต.ค. 2563 | 08:25 น.

เปิดสถิติผู้ต้องขังในเรือนจำ และทัณฑสถานทั่วประเทศทั้งหมดมีเกือบ 4 แสนราย

รายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ต้องขังในเรือนจำของประเทศไทย ระบุว่า  ประเทศไทยมีเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศจำนวน 143 แห่ง แบ่งออกเป็นการบริหารราชการส่วนกลาง ได้แก่ เรือนจำกลาง 33 แห่ง เรือนจำพิเศษ 4 แห่ง ทัณฑสถาน 24 แห่ง สถานกักกัน 1 แห่ง สถานกักขัง 5 แห่ง และการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ เรือนจำจังหวัด 50 แห่ง เรือนจำอำเภอ 26 แห่ง  (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2563)  มีจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ และทัณฑสถานทั่วประเทศทั้งหมด 381,454 คนเป็นชายจำนวน 333,311 ราย เป็นหญิงจำนวน 48,143 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กันยายน 2563)

สำหรับในจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำของไทยทั้งหมดนั้น เป็นนักโทษเด็ดขาดจำนวน 315,495 ราย ผู้ต้องขังระหว่างดำเนินคดี อุทธรณ์-ฎีกา,ไต่สวน-พิจารณา,สอบสวน จำนวน 64,248 ราย เยาวชนที่ฝากขัง 31 ราย ผู้ถูกกักกัน 34 ราย และผู้ต้องกักขัง 1,646 ราย  (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กันยายน 2563)

สถิตินักโทษเด็ดขาด พระราชบัญญัติยาเสพติดฯ แยกตามประเภทตัวยา ทั้งหมดจำนวน 253,726 ราย แบ่งประเภทยาออกเป็น 1.เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) 193,942 ราย ,2.ยาไอซ์ 28,959 ราย ,3.กัญชา 2,270 ราย ,4.พืชกระท่อม 1147 ราย ,5.เฮโรอีน 1,124 ราย ,6.แอมเฟตามีน 414 ราย ,7.เมทิลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน (ยาอี) 333 ราย ,8.ฝิ่น298 ราย ,9.มอร์ฟีน 275 ราย ,10.โคเคอีน (โคเคน) 211 ราย  และ11.อื่นๆ 24,753 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กันยายน 2563)

เปิดสถิติผู้ต้องขังเรือนจำไทยเกือบ 4 แสนรายล้นเกินกำลังเจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ดี ตามหลักมาตรฐานสากล (UNOPS Technical guidance for prison planning) ได้กล่าวถึงอัตราส่วนระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังที่เหมาะสม คือ เจ้าหน้าที่ 1 คน ต่อ ผู้ต้องขัง 5 คน  จำนวนผู้ต้องขังชายในประเทศไทยปัจจุบันมีจำนวน 333,311 คน จึงควรมีข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ ณ เรือนจำ/ทัณฑสถาน จำนวน 66,662 คน แต่อัตรากำลังของข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ ณ เรือนจำ/ทัณฑสถานของประเทศไทยในปัจจุบันมีจำนวน 12,648 คน ทำให้เจ้าหน้าที่ 1 คนต้องควบคุมดูแลผู้ต้องขังชาย 26 คน  (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กันยายน 2563)

จึงเกิดเป็นปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ส่งผลกระทบต่อการจัดสวัสดิการ และการแก้ไขพื้นฟูพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนมีสาเหตุมาจากการใช้กฎหมายอาญามากเกินความจำเป็น การใช้มาตรการทางอาญาและการบังคับใช้โทษจำคุกกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และการถูกควบคุมตัวในระหว่างพิจารณาคดี

ผู้ต้องขังล้นเรือนจำจึงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การปรับปรุงการใช้กฎหมายอาญาให้เหมาะสม การใช้มาตรการทางเลือกแทนการจำคุก การใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์(EM)ในการควบคุมผู้ต้องขัง และการใช้มาตรการลดทอนความเป็นอาชญากรรมในคดียาเสพติด เป็นต้น