นายธานี สืบฤกษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นวงกว้างส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจชะลอตัวและมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการจ้างงานของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้มีผู้โดยสารใช้บริการระบบการขนส่งสาธารณะน้อยลง ดังนั้น กรมการขนส่งทางบก ในฐานะนายทะเบียนกลางพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งให้สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ จึงได้นำเรื่องนี้เสนอคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ในการประชุมครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ที่ประชุมได้พิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้
1. อนุมัติให้กำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งรถตู้โดยสารประจำทางในเส้นทางหมวด 1 หมวด 4 ในเขตกรุงเทพมหานครและในส่วนภูมิภาค หมวด 2 และหมวด 3 ตามความในมาตรา 19 (12) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยรถตู้โดยสารมาตรฐาน 2 (จ) (รถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 จำนวนที่นั่งไม่เกิน 20 ที่นั่ง) ที่มีอายุการใช้งานตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางได้มีมติกำหนดไว้ ซึ่งครบกำหนดระหว่างวันที่ 26 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 ให้สามารถใช้รถตู้โดยสารทำการขนส่งออกไปอีก 1 รอบปีภาษีของการใช้รถแต่ละคันในเส้นทางเดิม โดยจะต้องเป็นรถคันเดิมและเป็นของผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองรายเดิมที่เคยบรรจุอยู่ในเส้นทาง
2. อนุมัติในหลักการให้นายทะเบียนกลางกำหนด (ปรับปรุง) เงื่อนไขการเดินรถตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางหมวด 1 หมวด 4 ในเขตกรุงเทพมหานคร หมวด 2 และหมวด 3 สำหรับรถตู้โดยสารมาตรฐาน 2 (จ) (รถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 จำนวนที่นั่งไม่เกิน 20 ที่นั่ง) ที่ได้รับการช่วยเหลือตามข้อ 1 และให้ยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนด (ปรับปรุง) เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาในการช่วยเหลือดังกล่าวแล้ว โดยให้จัดการเดินรถตามความเป็นจริง แต่ทั้งนี้จำนวนเที่ยวการเดินรถต้องสอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้บริการของผู้โดยสารในแต่ละเส้นทางเดินรถ และจะต้องมีจำนวนเที่ยวการเดินรถในแต่ละเส้นทางไม่ต่ำกว่าวันละ 2 เที่ยว (ไป 1 เที่ยว กลับ 1 เที่ยว) แต่หากข้อเท็จจริงไม่สามารถจัดการเดินรถได้ เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารไม่เพียงพอและไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการเดินรถ อย่างน้อยภายในหนึ่งสัปดาห์จะต้องมีจำนวนเที่ยวการเดินรถในแต่ละเส้นทางไม่น้อยกว่า 2 เที่ยว (ไป 1 เที่ยว กลับ 1 เที่ยว) โดยให้มีผลตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ ได้กำชับให้สำนักงานขนส่งจังหวัดลงไปตรวจสอบกำกับดูแลการจัดการเดินรถอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกมีการติดตามสถานการณ์ต่างๆ ทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงความต้องการเดินทางของประชาชนที่อาจเปลี่ยนแปลงไปและอาจมีผลกระทบต่อการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ โดยกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม พร้อมดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ และพร้อมประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่ง อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ประกอบการขนส่งปฏิบัติตามข้อแนะนำเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด อาทิ การทำความสะอาดตัวรถและที่นั่งผู้โดยสาร การทำความสะอาดภายในสถานีขนส่ง การให้บริการแอลกอฮอล์เจลล้างมือ การคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของพนักงานขับรถ ผู้ประจำรถ ผู้โดยสาร และการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง