แนะประชาชนวิธีป้องกันอุบัติภัยช่วงลอยกระทง

27 ต.ค. 2563 | 05:29 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ต.ค. 2563 | 12:36 น.

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะประชาชนท่องเที่ยวลอยกระทงอย่างปลอดภัย ควรลอยกระทงในท่าน้ำหรือโป๊ะเรือที่มีสภาพปลอดภัย ตลิ่งน้ำไม่สูงชัน มีรั้วกั้นป้องกัน เพื่อป้องกันการลื่นไถลพลัดตกน้ำ รวมถึงระมัดระวังการเล่นพลุหรือดอกไม้ไฟ ไม่เล่นในลักษณะเสี่ยงอันตราย ปล่อยโคมลอยบริเวณที่โล่งแจ้ง และไม่อยู่บริเวณสนามบิน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะประชาชนลดเสี่ยงอุบัติภัยช่วงลอยกระทง ซึ่งเทศกาลลอยกระทงเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยในหลายรูปแบบ ทั้งการจมน้ำ รวมถึงอันตรายจากพลุไฟ ดอกไม้ไฟ และโคมลอย เพื่อความปลอดภัย ปภ. มีคำแนะนำการป้องกันอุบัติภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทง ดังนี้ การป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ ควรลอยกระทงในบริเวณที่ปลอดภัย มีที่กั้นหรือราวจับป้องกันการพลัดตก ตลิ่งน้ำไม่สูงชันหรือตลิ่งดินไม่ทรุดตัว เพื่อป้องกันการลื่นไถลพลัดตกน้ำ ไม่ควรลงไปในโป๊ะหรือเรือที่มีคนจำนวนมาก หากนั่งเรือไปลอยกระทงกลางลำน้ำควรสวมเสื้อชูชีพตลอดเวลาที่โดยสารเรือ

แนะประชาชนวิธีป้องกันอุบัติภัยช่วงลอยกระทง

การป้องกันอุบัติภัยจากโคมลอย ควรปล่อยโคมลอยในที่โล่งแจ้ง ห่างจากแหล่งชุมชนและแนวสายไฟ ไม่อยู่บริเวณสนามบิน เพื่อป้องกันเพลิงไหม้จากโคมลอยตกใส่ ไม่ปล่อยโคมลอยบริเวณใกล้สนามบิน เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่ออากาศยานได้ รวมถึงการป้องกันอุบัติภัยจากพลุหรือดอกไม้ไฟ ควรเล่นลักษณะอย่างถูกวิธี ควรอยู่ห่างบริเวณจุดพลุและดอกไม้ไฟในระยะไม่ต่ำกว่า 10 เมตร ไม่โยนพลุดอกไม้ไฟใส่กลุ่มคน ปล่อยโคมลอยในที่โล่งแจ้ง ห่างจากแนวสายไฟ แหล่งชุมชน สถานีบริการน้ำมันและวัตถุไวไฟ เพื่อป้องกันสะเก็ดไฟตกใส่ ทำให้เกิดระเบิดและเพลิงไหม้ ที่สำคัญ ไม่ดัดแปลงพลุหรือดอกไม้ไฟ เพราะก่อให้เกิดอันตรายได้ไม่ยื่นอวัยวะเข้าใกล้พลุหรือดอกไม้ไฟที่จุดแล้ว ห้ามนำพลุหรือดอกไม้ไฟที่จุดไฟไม่ติดมาจุดไฟซ้ำหรือใช้ปากเป่า เพราะอาจระเบิด

แนะประชาชนวิธีป้องกันอุบัติภัยช่วงลอยกระทง

ท้ายนี้ หากประชาชนประสบพบเหตุอุบัติภัยหรือต้องการความช่วยเหลือสามารถแจ้งสายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป