29 ตุลาคม 2563 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (28 ต.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมกระเช้าไฟฟ้า พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อควบคุมการใช้กระเช้าไฟฟ้าให้มีความปลอดภัยต่อประชาชนและมีความมั่นคงแข็งแรงตามมาตรฐาน มีระบบป้องกัน ระบบสื่อสาร ระบบสัญญาณแจ้งเหตุอัตโนมัติระบบช่วยเหลือ และมีการตรวจสอบความปลอดภัยทุกปี โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.กำหนดนิยามคำว่า กระเช้าไฟฟ้า หมายถึง สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ขนส่งคนจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง โดยการลากจูงให้เคลื่อนที่ไปตามลวดเกลียวโลหะหรือตามราง ด้วยระบบไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์ และให้หมายรวมถึงอาคารประกอบในการให้บริการ เช่น ห้องเครื่อง ห้องควบคุม ห้องพักรอ ทางเข้าออก โดยไม่รวมลิฟต์ บันไดเลื่อน และทางเลื่อน
2.กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการก่อสร้าง การอนุญาตให้ใช้ การตรวจสอบมาตรฐาน การรับน้ำหนัก ความปลอดภัย และคุณสมบัติของวัสดุหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นเกี่ยวกับกระเช้าไฟฟ้า เช่น
-เจ้าของกระเช้าไฟฟ้า ต้องทำประกันภัยบุคคลภายนอก กรณีเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาลไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อคน รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000,000 บาทต่อครั้ง และคุ้มครองทรัพย์สินบุคคลภายนอกไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คุก 3 ปี "แก๊งล่อซื้อกระทง" อ้างลิขสิทธิ์รีดเงิน "นักเรียน"
รฟท.จับมือ ไชน่า เรลเวย์ ลงนามสัญญา 2.3 ไฮสปีดไทย-จีน
รฟท.จ่อชงบอร์ดอีอีซี ของบ 3.1 พันล.ลุยไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน
พิธีลงนาม "รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน"มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท (คลิป)
-คุณสมบัติผู้ควบคุมกระเช้าไฟฟ้า ต้องจบการศึกษาระดับ ปวส. ขึ้นไป สาขาวิชาช่างไฟฟ้าหรือวิชาช่างกล กรณีจบการศึกษาระดับ ปวช. สาขาวิชาช่างไฟฟ้าหรือวิชาช่างกล ต้องมีประสบการณ์ควบคุมกระเช้าไฟฟ้าอย่างน้อย 2 ปี และผู้ควบคุมต้องผ่านการฝึกอบรมจากผู้ผลิต
3.กำหนดให้กระเช้าไฟฟ้าเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ตามมาตรา 32 (2) พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้มีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยทุกปี และผู้จะก่อสร้าง ปรับเปลี่ยน รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายกระเช้าไฟฟ้า จะต้องยื่นคำขออนุญาตต่อพนักงานท้องถิ่นก่อน
4.กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการขออนุญาตก่อสร้างและใช้กระเช้าไฟฟ้า เช่น
-ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตก่อสร้าง ปรับเปลี่ยน รื้อถอน หรือเคลื่อนย้าย ฉบับละ 200 บาท
-ค่าธรรมเนียมใบรับรองการใช้กระเช้าไฟฟ้า ฉบับละ 100 บาท
-ค่าธรรมเนียมการตรวจแบบแปลนหรือการปรับเปลี่ยน กรณีกระเช้าไฟฟ้าสูงไม่เกิน 15 เมตร คิดตามพื้นที่เส้นทางเดินของกระเช้าไฟฟ้า ตารางเมตรละ 2 บาท ถ้าสูงเกิน 15 เมตรขึ้นไป คิดตารางเมตรละ 4 บาท โดยวัดจากพื้นที่ก่อสร้างถึงส่วนที่สูงที่สุดของกระเช้าไฟฟ้า
ทั้งนี้ ในลำดับต่อไป จะส่งร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการให้มีผลบังคับใช้ต่อไปได้