อาจารย์ไมเคิลปริพล ตั้งตรงจิตร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)กล่าวว่า สิ่งที่ชุบชีวิตคลองสาน คือ ระบบขนส่งมวลชน ที่สามารถเชื่อมคลองสานไปยังเขตเศรษฐกิจ สาทร สีลม สุขุมวิท ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที และยังเชื่อมต่อไปยังพื้นที่เขตเมืองเก่าเกาะรัตนโกสินทร์ เชื่อมจุดสำคัญในฝั่งพระนครเกือบทั้งหมด คลองสานจึงเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของฝั่งธนบุรี นอกจากนี้การคมนาคมโดยรถไฟฟ้ายังทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่คลองสานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และทั้งหมดสามารถเดินทางเชื่อมต่อกันได้ทั้งทางเรือ รถไฟ และการเดินเท้า
จุดเด่นย่านคลองสาน คือ เมืองที่เชื่อมต่อกันหมด เช่น คนฝั่งพระนคร สามารถเดินทางท่องเที่ยวด้วยการลงรถไฟฟ้าที่สถานีอิสรภาพ ก็สามารถเดินเที่ยวชมวัดในย่านเมืองเก่าฝั่งธนบุรี ได้ เช่น วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร โบสถ์คริสต์ วัดซางตาครู้ส ชุมชนกุฎีจีน วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และสามารถเดินท่องเที่ยวต่อไปยัง วัดอนงคารามวรวิหาร, ท่าดินแดง, ล้ง 1919 ,The Jam Factory หรือ คนฝั่งธนบุรี สามารถลงเรือข้ามไปฝั่งเกาะรัตนโกสินทร์ โดยลงที่สถานีสนามไชย เที่ยวชมวัดพระแก้ว วัดโพธิ์ ท่าเตียน ท่าราชวรดิฐ วัดสุทัศน์ หาของอร่อยรับประทานแถวศาลเจ้าพ่อเสือ เป็นต้น
“ไม่มีพื้นที่ไหนที่โดดเด่นเหมือนคลองสานแล้ว สะดวกทั้งการเดินทางทางบกและทางน้ำ มีพื้นที่ที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายสำคัญของประเทศไทย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่มีวันที่จะเงียบเหงา ความเจริญริมแม่น้ำ ขยายตัวขึ้นมาก เพราะเสน่ห์ความเป็นเมืองเก่าที่สร้างใหม่ไม่ได้ โอกาสทางการท่องเที่ยวและทางธุรกิจคลองสานจึงมีศักยภาพที่พร้อมมาก” อาจารย์ไมเคิลปริพล กล่าว
ด้าน ดร.กัญจนีย์ พุทธิเมธี อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะหัวหน้าโครงการย่านนวัตกรรมคลองสาน กล่าวว่า ผลกระทบที่ตามมากับความเจริญ เช่น การรุกล้ำลำคลองและเรื่องน้ำท่วม เนื่องจากเขตคลองสานมีพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาหลายกิโลเมตร โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมจากการหนุนของน้ำทะเล หรือการเพิ่มของระดับน้ำทะเล (Sea Level Rise) หรือ Storm Surge (คลื่นที่หนุนจากพายุฝน) ในอนาคต เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นได้และเป็นปัญหาใหญ่ ที่เครือข่ายภาคธุรกิจในพื้นที่คลองสานก็รับทราบ และมีการพูดคุยในเรื่องนี้ โดยมีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เป็นต้น และยังมีการพูดคุยกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาข้ามชาติ เช่น AECOM Thailand กลุ่มธุรกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยา และ กลุ่ม DTGO พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไอคอนสยาม โดยกลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ เหล่านี้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและมีการเตรียมป้องกันไว้แล้ว เช่น ห้างสรรพสินค้าและคอนโดที่สร้างใหม่มีความสูง จึงอาจกระทบน้อย แต่ธุรกิจก็อาจจะอยู่ไม่ได้หากพื้นที่โดยรอบได้รับผลกระทบ จึงพยายามผลักดันให้มีการพูดคุยในระดับชาติมากขึ้น
“การคาดการณ์ในอีก 50-100 ปีข้างหน้าหากปัญหาสภาวะโลกร้อนรุนแรงมากขึ้น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และการยกตัวของน้ำทะเล (Storm Surge) ขึ้นได้ มีการทำแบบจำลอง (scenario) กรณีเกิด Storm Surge หรือ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล (Sea Level Rise) ว่าระดับน้ำท่วมจะสูงกี่เมตร มีพื้นที่ใดบ้างที่น้ำจะท่วม และหากยอมรับความเสี่ยงจะปล่อยให้ท่วมได้แค่ไหน เป็นต้น” ดร.กัญจนีย์ กล่าว
นอกจากปัญหาน้ำท่วม ยังมีปัญหาเรื่องฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่ทางทีม มจธ. กำลังเก็บข้อมูลว่าลมในระดับ Street Level ช่วยลด PM2.5 ได้หรือไม่ และลมที่ผ่านคลองสามารถลดผลกระทบเกาะความร้อนเมือง (Urban Heat Island) หรือระบายมลพิษทางอากาศได้เร็วขึ้นหรือไม่ โดยเป็นงานวิจัยที่เริ่มเก็บข้อมูลใน 4 เขต ได้แก่ คลองสาน ธนบุรี จอมทอง และทุ่งครุ ภายใน 2-3 เดือนนี้จะมีสรุปเบื้องต้นว่าผลเป็นอย่างไร
หากผลออกมาว่าช่วยลดผลกระทบเกาะความร้อนเมือง โดยเป็นแนวกระจายความเย็น จากพื้นที่สีเขียวและน้ำ (Cool Spot) ในเมือง รวมทั้งมลพิษทางอากาศ อาจจะเป็นอีกเหตุผลที่การรักษาสภาพความเขียวของเมืองและพื้นที่คลองไว้ ไม่ให้ถูกรุกล้ำหรือทำลายมีความหมายสำหรับทุกคนในเมือง