อโกด้า ยกระดับการจัดการขยะพลาสติก สร้างท่องเที่ยวยั่งยืน

15 พ.ย. 2563 | 04:03 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2563 | 11:15 น.

อโกด้า เดินหน้าสร้างการท่องเที่ยวยั่งยืน เอาจริงปัญหาขยะในธุรกิจบริการ จับมือททท. และ WWF จัดสัมมนา เน้นย้ำความสำคัญของการลดขยะพลาสติกในอุตสาหกรรมการบริการ พร้อมผลักดันสถานที่พัก ยกระดับการจัดการขยะพลาสติก

อโกด้า แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (World Wide Fund for Nature หรือ WWF Thailand) จัดสัมมนาผ่านเว็บไซต์เกี่ยวกับความยั่งยืน (sustainability) ขึ้นเป็นครั้งแรก ในหัวข้อ “เทรนด์การใช้พลาสติกในที่พัก และแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจโรงแรม” (Plastic in Hotels: Trends and Best Practices) พร้อมเชิญพันธมิตรธุรกิจที่พักกว่า 150 ราย จาก 20 จังหวัดทั่วประเทศไทยเข้าร่วมรับฟัง และเรียนรู้วิธีใหม่ๆ ในการลดขยะพลาสติก 

 การจัดสัมมนาในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการประสานความร่วมมือกัน ระหว่างการนำเครือข่ายผู้ให้บริการที่พักของอโกด้า ที่ครอบคลุมทั่วประเทศไทย และความเชี่ยวชาญของ WWF ด้านประเด็นสิ่งแวดล้อมโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่แนวคิด และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับมาตรการการดำเนินธุรกิจบนแนวทางความยั่งยืน และหารือวิธีการที่จะทำให้ขั้นตอนและผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมและที่พักเติบโตไปบนพื้นฐานของความยั่งยืน 

ผู้เชี่ยวชาญจาก WWF ได้บรรยายความสำคัญของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และขั้นตอนที่คู่ค้าของอโกด้าสามารถทำตามได้ เพื่อปรับเปลี่ยนให้รูปแบบการดำเนินงานคู่ขนานไปกับเทรนด์ความยั่งยืน ซึ่งเริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมาย ต่อด้วยการสำรวจลักษณะแขกผู้เข้าพัก ซัพพลายเออร์ และพาร์ทเนอร์ในเครือข่ายความยั่งยืน และมุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังอธิบายวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะพลาสติก ควบคู่กับผลประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับ พร้อมแนะนำทางเลือกของผู้ประกอบการที่พักในการเข้าร่วมแก้ปัญหาดังกล่าว
 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ในปี 2564 ททท. ได้กำหนดนโยบายและมุ่งเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ ททท. เป็นผู้นำในการสร้างอนาคตการท่องเที่ยวไทยบนพื้นฐานของความปลอดภัยและความยั่งยืน (Safe & Sustainable Future)เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยและความมั่นคง (Safety and Security) และด้านระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง (Health and Hygiene)และการรักษาสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบพร้อมทั้งสร้างจิตสำนึกในสังคมเพื่อรณรงค์ในการแก้ปัญหาประสานความร่วมมือทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในบทบาทผู้นาด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้ตระหนักถึงความสาคัญของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ หรือ Responsible Tourism ซึ่งรูปแบบของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบเป็นการท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น สร้างงานและรายได้ ทาให้ผู้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติน้อยที่สุด ส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติ และรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชุมชน รวมทั้ง เปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว ได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และสัมผัสกับวิถีชีวิตของชุมชน ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ผู้ประกอบการโรงแรม หน่วยงานภาครัฐ ชุมชนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว ต่างต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และดาเนินการเพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นไปอย่างยั่งยืน

นายจอห์น บราวน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อโกด้า กล่าวว่า ขณะที่สถานการณ์การท่องเที่ยวกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้คนก็เริ่มมองหาทางเลือกในการเดินทางท่องเที่ยวที่แตกต่างออกไป หลายเดือนที่ผ่านมาเรามีเวลาได้หยุดชั่วคราว แล้วพิจารณาผลกระทบจากการท่องเที่ยว ที่มีต่อทั้งชุมชนต่างๆ และสิ่งแวดล้อม จากผลสำรวจพบว่า นักเดินทางต่างมองหาทางเลือกในการเดินทางท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม ซึ่งแนวโน้มของการตัดสินใจท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้น 

ช่วงที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็นโอกาสดีให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อยอาจสร้างผลด้านบวกได้มากกว่าที่เราคาดคิด ทุกคนควรศึกษาเรียนรู้วิธีใหม่ๆ ในการจัดการการบริโภคพลาสติกที่ไม่จำเป็น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือเมื่อการท่องเที่ยวกลับเข้าสู่ระดับเดิมก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด

นางสาวพิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศไทย กล่าวว่า การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นวิธีที่ทำให้ผู้คนและธรรมชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสมดุล และเป็นวิธีแก้ปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาวที่ยั่งยืน การสัมมนาผ่านเว็บไซต์ที่เราร่วมจัดกับอโกด้า โดยได้รับการสนับสนุนจาก ททท. ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่า เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่อนาคตด้วยกันอย่างสร้างสรรค์ ปกติแล้วเมื่อพูดถึงประเทศไทย นักท่องเที่ยวมักจะนึกถึงธรรมชาติที่งดงาม วัฒนธรรมที่มีเสน่ห์ 

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษา พบว่าขยะพลาสติกสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายหาดมาก ซึ่งส่งผลตรงต่อทั้งภาคธุรกิจและภาคการท่องเที่ยว การกำจัดขยะพลาสติกในมหาสมุทรถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเป็นเป้าหมายที่พนักงานทุกคนที่อโกด้า ททท. และ WWF รวมถึงผู้คนทั่วโลกสามารถมีส่วนร่วม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านบวกในอนาคตได้ ทุกภาคส่วนในสังคมควรหันมาตระหนักถึงปัญหา รวมถึงการคิดวิธีแก้ ซึ่ง WWF มักพูดว่า Together Possible (ร่วมกัน เราทำได้) ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Plastic Smart Cities ของ WWF เรามุ่งมั่นตั้งใจทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน รวมถึงอุตสาหกรรมโรงแรมอย่างใกล้ชิด เพื่อลดการรั่วไหลของพลาสติกในธรรมชาติลง 30% ภายในปี 2568

 สัมมนาผ่านเว็บไซต์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของอโกด้า ร่วมกับ WWF และพาร์ทเนอร์ ทั้งนี้ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อโกด้าให้การสนับสนุนโครงการปลูกต้นไม้ของ WWF ที่เชียงใหม่ โดยมีพนักงานอโกด้าและตัวแทนพาร์ทเนอร์กว่า 50 คน ร่วมกับอาสาสมัครชุมชนในพื้นที่และกลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 13 ปลูกต้นไม้จำนวน 6,000 ต้น ในนามของพาร์ทเนอร์ที่พักในประเทศไทยและจีน ซึ่งได้รับรางวัล Gold Circle Award ประจำปี 2019 ทุกคนได้ร่วมกันจัดเตรียมปุ๋ยและปลูกต้นกล้าจำนวน 6,000 ต้น 

กิจกรรมครั้งนั้น เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของ WWF ในการสร้างแรงจูงใจให้ 10 ครอบครัวที่ทำเกษตรกรรมในพื้นที่ เปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว มาทำการเกษตรตามแนวคิด “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” เพื่อจัดการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และหยุดการทำลายหน้าดิน 

หลังจากสัมมนาผ่านเว็บไซต์ อโกด้าจะประสานงานระหว่าง WWF และพาร์ทเนอร์ ในการจัดทำแบบสำรวจ และแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมเชิงลึกเพิ่มเติม ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เตรียมพร้อมเมื่อการท่องเที่ยวกลับเข้าสู่ระดับเดิม ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด สำหรับที่พักที่เข้าร่วมโครงการที่สนใจยกระดับการจัดการขยะพลาสติก