จีนเคลื่อนตัวชัดปักธง SEC วิทยาลัยหวงเหอร่วมมือด้านการศึกษา กับ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาจังหวัดระนอง เพื่อสร้างกำลังคนรองรับยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจใต้
ผู้สื่อข่าวรายงานวัน เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2563 เวลา 09.39 น. นายธีระพล ชลิศราพงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เป็นประธานในพิธีเปิดป้ายวิทยาลัยหวงเหอ (Huang He College) ) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาจังหวัดระนอง และอาจารย์สุวัฒน์ นวลขาว รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวรายงาน ว่าเป็นความร่วมมือด้านการศึกษา ระหว่างวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และ วิทยาลัยโปลีเทคนิค ซานเหมินเซียะ(Sanmenxia Polytechnic) และมีกำหนดการพิธิเปิดศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมไทย ณ วิทยาลัยโปลีเทคนิค ซานเหมินเซี๊ยะ(Sanmenxia Polytechnic) และวิทยาลัย Huang He ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาจังหวัดระนอง ด้วยระบบการสื่อสารทางไกลออนไลน์ ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563
นายธีระพล กล่าวว่า การเข้ามาเปิดสาขาวิทยาลัยของจีนใน จ.ระนอง นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และสะท้อนอย่างชัดเจนว่า จีนสนใจภูมิภาคนี้และเคลื่อนตัวเข้ามาปักธงยังจังหวัดชายแดนแห่งนี้แล้ว โดยก่อนจะมีการเปิดความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างกันครั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ ชั้น 2 อาคาร 37 รศ.ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ รักษาราชการแทนอธิการบดี ม.ราชภัฏสวนสุนันทา เป็นประธาน พร้อมคณะผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมผ่านระบบออนไลน์ กับ Mr.Liu Tingfu เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ มณฑลเหอหนาน และคณะผู้บริหารของวิทยาลัยโพลีเทคนิคซานเหมินเซียะ มณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน จนได้ข้อสรุปความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่าง 2 สถาบันดังกล่าว
ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้มีกลุ่มหรือคณะตัวแทนจากจีนเข้ามาในพื้นที่ระนองเป็นระยะ ล่าสุดคือคณะผู้แทนจากสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (China Council for the Promotion of International Trade-CCPIT) ขอเข้าพบคณะกรรมการหอการค้าระนอง หลังจากลงพื้นที่ชุมพรมาก่อนแล้ว เพื่อขอข้อมูลภาคเศรษฐกิจธุรกิจ และกิจการท่าเรือ เพื่อนำข้อมูลไปเสนอแก่นักลงทุนจีนประกอบการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครม.สัญจรปลดล็อกที่ดิน-สนามบิน‘ระนอง’
รัฐบาล ศึกษาแลนด์บริดจ์ เชื่อมทะเลชุมพร-ระนอง
คณะผู้แทน CCPIT ให้ความสนใจลงทุนในจังหวัดภาคใต้หลายจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 จังหวัดในพื้นที่การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน(SEC) คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช นอกเหนือจากพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC)
โดยวางยุทธศาสตร์การพัฒนาให้เป็นประตูการค้าด้านตะวันตกทางทะเล เพื่อเชื่อมโยงตลาดและฐานการผลิตจากอีอีซี กับกลุ่มประเทศบิมสเท็ครอบอ่าวเบงกอล การพัฒนาประตูสู่การท่องเที่ยวอ่าวไทยและอันดามัน (Royal Coast & Andaman Route) การพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง (Bio-Based & Processed Agricultural Products) และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรม (Green & Culture)
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 17 ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,629 วันที่ 22-24 พฤศจิกายน พ.ศ.2563