วิธีการในการแก้ปัญหาของ “ชุมชนบ้านตุ่น” จังหวัดพะเยา เกี่ยวกับภัยแล้ง จนนำมาสู่โมเดลการบริหารจัดการนํ้าที่ดีถือเป็นตัวอย่างและต้นแบบที่ดี จนเป็นที่มาที่ทำให้ กลุ่มธุรกิจ TCP จัดกิจกรรม “TCP Spirit พยาบาลลุ่มนํ้า ชวนก๊วนไปแอ่วกว๊าน Limited” นำกลุ่มคนรุ่นใหม่ 65 คน ลงพื้นที่ ไปเรียนรู้และส่งต่อองค์ความรู้อย่างเข้าใจถึงแก่นของปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาจริงๆ
ปัญหาภัยแล้งของชุมชนบ้านตุ่นนั้นมีมานาน และได้ถูกแก้ไข โดยการพูดคุยและสร้างข้อตกลงของกลุ่มคนในชุมชนด้วยกันอย่างมีระบบ โดยคนในชุมชนช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ไขและวางระบบบริหารจัดการ ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิอุทกพัฒน์และ สสน. อาทิ พ่อสม หลวงมะโนชัย ที่คิดและพัฒนา “แตรปากฉลาม” เป็นเหมือนเครื่องผันนํ้าไปสู่พื้นที่สูงโดยไม่ต้องใช้พลังงาน แก้ไขปัญหานํ้าขาด แคลนของชุมชนที่สูง
นอกจากนี้ ยังมี “ต๊างนา” ร่องนํ้าที่ใช้การลำเลียงนํ้าเข้านา และ “ยอยนํ้า” ร่องน้อยที่ใช้ยอยนํ้าออกจากนา ซึ่งทุกอย่างต้องมีข้อตกลงร่วมกัน และยอมรับในกฎกติกา เรียกว่า เป็น “ทีมทำงานของชุมชน” ที่เข้มแข็ง ที่ชุมชนอื่นๆสามารถนำไปใช้เป็นตัวอย่าง
ส่วนของ กลุ่มธุรกิจ TCP นำโดย ซีอีโอ “สราวุฒิ อยู่วิทยา” คือ ผู้ที่เข้ามาสื่อสาร และเชื่อมต่อการดูแลบริหารจัดการนํ้า ตั้งแต่ ต้นนํ้า กลางนํ้า และปลายนํ้า โดย TCP มีแนวคิดและปฏิบัติในการบริหารจัดการนํ้าอย่างยั่งยืนอยู่แล้ว ทั้งในโรงงานผลิตของตัวเอง ชุมชนรอบโรงงาน และการขยายต่อยอดไปสู่พื้นที่ต้นนํ้าต่างๆ ซึ่งขณะนี้ ได้ดำเนินการแล้วใน 3 ลุ่มนํ้า คือ ลุ่มนํ้ามูล ลุ่มนํ้ายม และ ลุ่มนํ้าบางปะกง
ส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือ ด้วยการนำทีมอาสาสมัคร TCP Spirit ลงมาดูแลต้นนํ้า พร้อมเรียนรู้บ้านตุ่นโมเดล ผ่านกิจกรรมและการสื่อสารที่ทำให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้เข้าใจง่ายขึ้น โดย “อเล็กซ์ เรนเดลล์” TCP Spirit Brand Ambassador และทูตสันถวไมตรีโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ
ความคาดหวังของ TCP คือ การส่งต่อความคิด เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ผ่านอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมกิจกรรมเพราะฉะนั้น การสร้างความรู้ ความเข้าใจโดยการลงพื้นที่ ได้สัมผัสของจริง จะทำให้เกิดความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งโดยผู้ร่วมกิจกรรมจะทำ Thesis สรุปและวิเคราะห์ความโมเดลการบริหารจัดการนํ้าของบ้านตุ่นโมเดลด้วย
“ดร.รอยล” กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องนํ้า เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันคิดวางแผนแบบแมคโคร เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติแบบไมโคร คือ การลงมือทำแบบเป็นส่วนๆ ช่วยกัน และที่สำคัญคือการพัฒนาขึ้นมาเป็นระบบ และส่งต่อไปแบบรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้เกิดการแก้ไขอย่างยั่งยืน ซึ่งในวันนี้ ปัญหาการขาดแคลนนํ้าของชุมชนบ้านตุ่น บริเวณดอยหลวงได้ถูกแก้ไขแล้ว เกษตรกรมีนํ้าในการทำการเกษตรแล้ว นํ้าในกว๊านพะเยา ที่เคยมีตะกอน มีผักตบก็ถูกแก้ไข จนกลายเป็นนํ้าใสแล้ว การแก้ไขปัญหาลักษณะนี้ จึงต้องมีการส่งต่อไปสู่ชุมชนอื่นๆ เพื่อแก้ไขในระดับประเทศต่อไป
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 23 ฉบับที่ 3,628 วันที่ 19 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563