กลุ่มดุสิตธานีเปิดแนวรุกตลาดท่องเที่ยวครั้งใหม่ ภายใต้แนวคิดท่องเที่ยวอย่างลึกซึ้งถึงชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่น หวังสร้างประสบการณ์เดินทางคุณภาพเชิงลึกที่น่าประทับใจให้กับลูกค้า ด้วยการผนึกความร่วมมือกับ โลเคิล อไลค์ (Local Alike) ธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อสังคมที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสร้างการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน
ทั้งยังขยายความร่วมมือโดยตรงกับพันธมิตรทั้งเอสเอ็มอีและชุมชนในจังหวัด ต่อยอดสร้างการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นวิถีใหม่ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ชี้เป็นทางรอดสำหรับสู้วิกฤติโควิด หวังสร้างโอกาสและรายได้ไปพร้อมกับชุมชนและชาวบ้าน ผ่าน 3 โมเดล ที่ต้องอาศัยทั้งความร่วมมือ (Collaboration) การผสมผสาน (Integration) และการเกื้อกูลกันและกัน (Social Contribution)
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วิกฤติโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาไม่เพียงแต่จะกระทบกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ยังทำให้พฤติกรรมการท่องเที่ยวของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ดังนั้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจำเป็นต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในส่วนของกลุ่มดุสิตธานีนั้น พบว่า ทางรอดสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวโดยรวม ตั้งแต่องค์กรขนาดใหญ่ไปจนถึงผู้ประกอบการรายย่อยหรือเอสเอ็มอี รวมทั้งชุมชนและท้องถิ่น และผู้ประกอบการการท่องเที่ยวเพื่อสังคม จะอยู่ภายใต้ 3 โมเดลสำคัญ นั่นคือ การอยู่ได้โดยอาศัยความร่วมมือ (Collaboration) การผสมผสาน (Integration) และการเกื้อกูลกันและกัน (Social Contribution)
“การจะดึงให้คนไทยหรือนักท่องเที่ยวที่อยู่ในประเทศรู้สึกอยากออกมาเที่ยวมากขึ้น คือ ต้องพยายามลองมองหาสิ่งใหม่ๆ ที่เขายังไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสหรือคุ้นเคยมากนัก หาสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่กำลังมองหาความสะดวกสบาย (Convenience) รวมถึงต้องการประสบการณ์ใหม่ (Experience) ภายใต้การท่องเที่ยวที่เน้นความคุ้มค่า (Value)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มดุสิตธานี รุกเกียวโต ปักหมุดแบรนด์ “ดุสิตธานี” แห่งแรกในญี่ปุ่น
"ดุสิตธานี" ดีสรัปต์ตัวเอง ขยายลงทุน ตอบโจทย์บริบทใหม่ท่องเที่ยว
“ดุสิตธานี” ปักหมุดแบรนด์ใหม่ “อาศัย” แห่งแรก เยาวราช รุกกลุ่มมิลเลนเนียล
เราเที่ยวด้วยกัน จ่ายต่ำ 1 พันบาท ก็พัก เครือ“ดุสิตธานี”ได้
โฉมใหม่ "ดุสิตธานี กรุงเทพ" ตำนาน 50 ปี สู่สถาปัตยกรรมระดับไอคอนิก 5 ทศวรรษ
กลุ่มดุสิตธานีจึงปรับยุทธศาสตร์ด้วยการขยายตลาดไปสู่การสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับการท่องเที่ยวอย่างลึกซึ้งในชุมชนและท้องถิ่น โดยผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ ธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงผู้ประกอบการเพื่อสังคม ต่อยอดการท่องเที่ยวด้วยการจัดแคมเปญที่เน้นสร้างความยั่งยืนและสร้างประสบการณ์ใหม่ในท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสและสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่างๆ ไปพร้อมๆ กับการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ” นางศุภจีกล่าว
โดยล่าสุด กลุ่มดุสิตธานีได้ร่วมมือกับ Local Alike ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อสังคมแนวใหม่ ที่วางแนวทางให้เจ้าของชุมชนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบและนำเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งเป็นการส่งเสริมการสร้างรายได้ร่วมกันภายใต้กรอบธุรกิจเพื่อสังคม นำเสนอแพคเกจท่องเที่ยวเชิงลึก และร่วมทำงานกับ Local Alike ในการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ด้วยการส่งทีมงานเข้าไปช่วยให้ความรู้กับคนในชุมชน ในการรับมือกับนักท่องเที่ยว และให้คำแนะนำในการวางระบบการทำงานเพื่อยกระดับการบริการให้ได้มาตรฐานสากล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานี กล่าวว่า จุดเด่นของ Local Alike คือการเปิดพื้นที่และทำงานร่วมกับชุมชนทั่วประเทศ เพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ซึ่งความร่วมมือของดุสิตกับ Local Alike จะแบ่งออกเป็นสองระดับคือ ความร่วมมือในระดับแรก คือ ร่วมมือในการโปรโมทชุมชนที่มีความพร้อมผ่านแพคเกจท่องเที่ยว Dusit Local Explorer กับ โรงแรมในเครือดุสิตทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการนำเสนอทริปการท่องเที่ยวแบบเจาะลึก เน้นสาระแบบแน่นๆ สามารถสัมผัสและเข้าถึงชุมชนได้จริง ซึ่งรายได้ของทริปการท่องเที่ยว 70% จะเข้าสู่ชุมชนโดยตรง และอีก 30% จะเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการการท่องเที่ยวเชิงสังคมอย่าง Local Alike เพื่อส่งต่อพลังในการท่องเที่ยวไปถึงชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป
ความร่วมมือในระดับเชิงลึก คือการร่วมส่งบุคลากรเข้าไปเป็นทีมงานจิตอาสาร่วมกับทีมงาน Local Alike เพื่อให้ความรู้กับชุมชนแห่งใหม่ๆ ที่กำลังอยู่ในระหว่างพัฒนา โดยที่ผ่านมา กว่าแต่ละชุมชนจะพร้อมรับนักท่องเที่ยวได้ต้องใช้ระยะเวลานานหลายปี เนื่องจากชุมชนใหม่ๆ อาจจะยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และความพร้อมในเรื่องของการรับมือกับนักท่องเที่ยว
กลุ่มดุสิตธานีจึงใช้จุดแข็งในเรื่องของการมีประสบการณ์และยังมีหน่วยงานด้านการศึกษา เช่น วิทยาลัยดุสิตธานี ส่งทีมงานและบุคลากรที่มีความรู้เข้ามาช่วยเสริม และทำงานร่วมกันกับ Local Alike ในการให้ความรู้คนในชุมชนใหม่ๆ เพื่อยกระดับการดูแลนักท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานทั้งในเรื่องของความสะอาด ความสะดวกสบาย และยังร่วมสนับสนุนกิจกรรมช่วยสนับสนุนรายได้เสริมด้านอื่นๆ ให้กับชุมชนอีกด้วย
อาทิ “โลเคิล อร่อย” (Local Aroi) ที่ส่งเสริมให้ชุมชนได้มีทักษะการประกอบอาหารอย่างมืออาชีพ ให้มีศักยภาพในการจัดเลี้ยงอาหารนอกสถานที่แบบพิเศษ ที่นอกจากจะได้อิ่มเอมจากอาหารอร่อยจากท้องถิ่นแล้ว ยังได้ซึมซับวิถีชีวิต วัฒนธรรม อัตลักษณ์ของชุมชนอีกด้วย และ “โลเคิล อลอท” (Local Alot) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ถูกพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและได้มาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและชุมชนอย่างยั่งยืน
นายสมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด กล่าวว่า “ผมรู้สึกขอบคุณและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่กลุ่มดุสิตธานี เห็นถึงคุณค่าของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนการทำงานของเราอย่างเต็มที่ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เราได้ทำงานร่วมกับทีมงานของดุสิตในแต่ละพื้นที่ และประสานความร่วมมือกับ “ชุมชน” ให้ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวและมีศักยภาพในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้เอง เพื่อให้ลูกค้าทุกคนได้รับประสบการณ์คุณภาพจากการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตพื้นถิ่น
อีกทั้งเรากำลังวางแผนร่วมมือกับดุสิตฯ ในการต่อยอดขยายพื้นที่การทำงานออกไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งการสนับสนุนของดุสิตฯ ในเรื่องของเทรนนิ่ง น่าจะทำให้เป้าหมายในการขยายจำนวนชุมชน สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้นกว่าเดิม”
นอกจาก Dusit Local Explorer แล้ว กลุ่มดุสิตธานียังได้จับมือกับผู้ประกอบการรายย่อยในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด จัดทำแพคเกจท่องเที่ยว Ultimate Dusit Experiences ซึ่งเป็นทริปประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบลักซูรี่เหนือระดับ ตามความต้องการของลูกค้ากลุ่มไฮเอนด์ ที่เน้นการกินหรู อยู่สบาย มองหาความแปลกใหม่ และมีช่างภาพมืออาชีพคอยบันทึกภาพความทรงจำให้ตลอดทริป สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่อยากแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวให้กับคนรอบตัวอีกด้วย
นางศุภจีกล่าวย้ำด้วยว่า การเปิดตลาดท่องเที่ยวแนวใหม่ของกลุ่มดุสิตธานีในครั้งนี้ จะช่วยตอกย้ำความเป็นดุสิตธานีอย่างแท้จริง (Dusit Graciousness) ทั้งเรื่องของความโดดเด่นในการให้บริการ (Services) การท่องเที่ยวที่เน้นสุขภาวะทั้งสุขภาพกายและใจ (Wellness) การเชื่อมต่อกับท้องถิ่น (Local Connection) การสร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยว (Sustainability) ในฐานะของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ในวันนี้วิกฤติโควิด-19 ตอกย้ำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมแรงร่วมใจกันทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวอยู่รอด อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม