10 ทักษะ แรงงานยุคโควิดต้องมี

09 ธ.ค. 2563 | 05:55 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ธ.ค. 2563 | 12:55 น.

แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย แจงผลสำรวจทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการ เผย "ภาษา-การแก้ปัญหา-เจรจาสื่อสาร" ทักษะที่องค์กรต้องการมากๆ และคนทำงานต้องมี เพื่อพัฒนาการทำงานรับมือการแข่งขันตลาดงาน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีการทำงานในยุค New Normal การพัฒนาทักษะความรู้เป็นอีกหัวใจสำคัญของแรงงานในปัจจุบัน ที่ต้องพัฒนาและเพิ่มศักยภาพรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  รวมทั้งการแข่งขันในตลาดงานด้วย ล่าสุด “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย” ได้ทำการสำรวจการพัฒนาและเพิ่มทักษะในการทำงานจากกลุ่มแรงงาน 1,233 คน  ทั้งนี้ ผลสำรวจชี้ 3 อันดับแรกมาแรงที่ต้องอัพสกิล ได้แก่  การเพิ่มทักษะในด้านภาษา 65%  รองลงมาการเพิ่มทักษะในการแก้ปัญหาเชิงซับซ้อน 55% และอันดับสามการเพิ่มทักษะในการเจรจาต่อรอง และการโน้มน้าวใจ 50%  

“แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย” ทำการสำรวจการพัฒนาและเพิ่มทักษะในการทำงาน โดยมีแรงงานผู้ร่วมตอบแบบสอบถามจำนวน 1,233 คน  เกี่ยวกับความต้องการพัฒนาและเพิ่มเติมทักษะด้านใดบ้าง (Upskill) เพื่อพัฒนาทักษะการทำงาน เนื่องจากในปัจจุบันการทำงานมีการแข่งขันสูง ดังนั้น ทักษะทางเทคนิคเฉพาะในสายงาน (Hard Skill) อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการนำมาใช้ในการทำงาน  แต่สิ่งที่ควรมีควบคู่กันก็คือ Soft Skill เพื่อจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ใครที่เตรียมความพร้อมดีกว่าย่อมได้เปรียบในสนามการแข่งขันนี้  ทั้งนี้ การจัดอันดับผลสำรวจ 10 อันดับ เพื่อให้องค์กรและแรงงานนำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและเพิ่มทักษะความรู้ในการพัฒนาศักยภาพที่สนับสนุนการทำงานในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ผลสำรวจ อันดับแรกคือ ความต้องการเพิ่มทักษะทางด้านภาษามากที่สุดถึง 65%  ซึ่งนับเป็นทักษะที่สำคัญในการทำงานโดยเฉพาะการติดต่อกับลูกค้าระดับสากลทั้งการสื่อสารทางอีเมลและการประชุม เป็นอีกหนึ่งทักษะที่จะเสริมความได้เปรียบให้กับแรงงาน

 
อันดับที่สอง  ทักษะในการแก้ปัญหาเชิงซับซ้อน 55% ในการทำงานทุกสายงาน บุคลากรอาจต้องเตรียมพร้อมในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นและที่ซับซ้อนตามแต่ละสายงาน เพื่อให้การทำงานสำเร็จตามเป้าหมาย ดังนั้นทักษะในด้านนี้กระบวนการเรียนรู้บางครั้งไม่ได้มีในตำรา แต่ต้องเรียนรู้จากการทำงานจริง

อันดับที่สาม การเพิ่มทักษะในการเจรจาต่อรอง และการโน้มน้าวใจอยู่ที่ 50% ทักษะด้านนี้สายงานกลุ่มที่ต้องติดต่อเจรจากับลูกค้าไม่ว่าจะระดับผู้บริหาร หัวหน้างานรวมทั้งระดับปฏิบัติการนั้นมีความจำเป็นอยู่ตลอดเวลาที่ต้องใช้ทักษะการเจรจาต่อรองนั้นช่วยในแง่ของการเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน หรือนำมาปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพในการประสานงานให้ดียิ่งขึ้น   

ส่วนอันดับที่สี่ การเพิ่มทักษะในการติดต่อสื่อสาร 47% นับเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการทำงานทักษะด้านนี้จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น  เพราะถ้าหากการสื่อสารไม่เข้าใจกันการทำงานก็อาจจะผิดพลาดได้ และยังส่งผลให้เกิดควาเสียหายได้อีก

อันดับที่ห้า การเพิ่มทักษะในการวางแผน 40% ในการทำงานให้เกิดประสิทธิผลและบรรลุเป้าหมายการวางแผนการทำงานอย่างมีกระบวนการ ขั้นตอนจะส่งผลให้การทำงานสำเร็จตามเป้าหมายได้ดี  

อันดับที่หก การเพิ่มทักษะในการคิดวิเคราะห์ อย่างเป็นระบบ 35% ทักษะในด้านนี้สอดคล้องกับการวางแผน และการบริหารจัดการเพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการทำงานมาวิเคราะห์ เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นและนำมาวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในอนาคตได้อีกด้วย

10 ทักษะ แรงงานยุคโควิดต้องมี

อันดับที่เจ็ด การเพิ่มทักษะในการบริหารจัดการบุคคล 30% ทักษะด้านนี้ไม่ใช่ว่าระดับผู้บริหารหรือหัวหน้างานเท่านั้น แต่สามารถใช้ได้ทุกกลุ่มทุกระดับงาน โดยเฉพาะการทำงานเป็นทีมให้ผลงานเป็นไปตามเป้าก็ต้องใช้ทักษะด้านนี้ผสมผสานเข้าไปด้วย  เพราะนอกจากจะได้งานที่ดีแล้วยังจะได้ทีมทำงานที่เป็นทีมเวิร์คยิ่งขึ้นด้วย

อันดับที่แปด การเพิ่มทักษะเกี่ยวกับการใช้งานโซเชียลมีเดีย (Social Media) อย่างมีประสิทธิภาพ 25% ปัจจุบันอิทธิพลของโซเชียลมีเดียมีผลเกี่ยวข้องกับการทำงานในหลายบริบท  หากสายงานที่ต้องใช้ช่องทางนี้เป็นเครื่องมือเพื่อการทำงานทั้งงานด้านการตลาด การส่งเสริมการขายและการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร การเรียนรู้ทักษะด้านนี้เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการทำงานนับว่าเป็นทักษะที่ต้องเรียนรู้ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

อันดับที่เก้า การเพิ่มทักษะในด้านความเป็นผู้นำ 20% ในการทำงานทุกสายงานต้องมีผู้นำและทีมในการทำงาน ซึ่งเป็นทักษะในการส่งเสริมให้คุณก้าวและเติบโตในสายงานได้ยิ่งขึ้น 

และอันดับสุดท้าย การเพิ่มทักษะการบริหารจัดการเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ 15% ถึงแม้ทักษะนี้จะอยู่อันดับท้าย  แต่ไม่ใช่ไม่สำคัญเพราะการบริหารจัดการด้านเวลาอย่างมีประสิทธิภาพช่วยให้การทำงานสำเร็จตามเป้าหมาย

โดยสรุป ผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของทักษะที่แรงงานต้องการพัฒนาองค์ความรู้และเพิ่มเติมทักษะในแต่ละด้านบรรลุทั้งวัตถุประสงค์ส่วนตนและขององค์กร  เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ต่างได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้พร้อมขับเคลื่อนองค์กรก้าวข้ามทุกอุปสรรคและบรรลุเป้าหมาย  ดังนั้น ถึงเวลาที่แรงงานจะสร้างเสริมประสบการณ์ให้มีความโดดเด่นและได้เปรียบคู่แข่ง เพราะทรัพยากรบุคคลจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรสู่อนาคตต่อไป