มองอนาคต 2021 องค์กรต้อง “อยู่รอด อยู่เป็น อยู่ยืน”

11 ธ.ค. 2563 | 03:30 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ธ.ค. 2563 | 09:03 น.

ผู้นำ Sea Group มองอนาคตปี 2021 องค์กรต้องทำตัวเองให้ “อยู่รอด อยู่เป็น อยู่ยืน” หลังวิกฤติโควิด -19 ทำทั่วโลก “ตกต่ำ ติดขัด ติดลบ” เผยเรายังไมถึงยุค New Normal แต่กำลังอยู่ในช่วงความผิดปกติใหม่ ธุรกิจต้องใช้โมเดล “2R” กระจายกลุ่มลูกค้า กระจายธุรกิจ เพื่อการกระจายความเสี่ยง รับมืออาฟเตอร์ช็อค

ในเวทีสัมมนาผ่านแอพลิเคชั่น Zoom ของงาน THAILAND HR DAY 2020 - HYBRID CONFERENCE “Building Organizational Resilience: HR & the Future Strategy on Transformation” ซึ่งจัดโดยสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) 

ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย Group Chief economist Sea Group บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในวงการเกมและ E-commerce (Garena, Shopee, Alipay) ได้พูดคุยในหัวข้อ Thailand in 2021: Shaping a People-centered Economic Recovery ชวนทุกคนให้จินตนาการถึงโลกหลัง COVID – 19 ในปี 2021 และเผยให้เห็นถึงข้อมูลสำคัญแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก COVID – 19  ย้ำชัดว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้ แตกต่างจากต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์โดยสิ้นเชิง เพราะจุดศูนย์กลางไม่ใช่ภูมิภาค แต่เป็น “คน” และทำให้ปี 2020 กลายเป็นปีแห่งการ “ตกต่ำ (Disruptions) ติดขัด (Downturns) ติดลบ (Deficits)” 

มองอนาคต 2021 องค์กรต้อง “อยู่รอด อยู่เป็น อยู่ยืน”

COVID – 19 เป็น Disruption ที่ส่งผลกับชีวิตคน ผู้เสียชีวิตกว่าล้านคน ทำให้การดำเนินชีวิตในโลกหยุดชะงัก COVID – 19 ทำให้เกิด Downturn ในวิกฤตต้มยำกุ้งหรือแฮมเบอร์เกอร์ เรายังสามารถส่งออกการค้าขายไปที่ภูมิภาคอื่นได้ แต่โควิดทำให้เกิดความติดขัดไม่สามารถส่งออกค้าขายไปยังภูมิภาคอื่นได้ อีกทั้งกำลังซื้อและความมั่นใจของผู้บริโภคก็ตกลง เมื่อ Disruption มาเจอ Downturn ก็ทำให้เกิด Deficits การ ติดลบทั้งตัวเลข GDP ความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของผู้ประกอบการและประชาชน

ทว่าท่ามกลางวิกฤต ก็ยังมีความหวังและโอกาสเกิดขึ้น เมื่อชีวิตติดขัด ดิจิทัลจึงกลายเป็นเรื่องปกติในทุกด้านของชีวิต จนเรียกได้ว่า “Digital by Default” ดร.สันติธารกล่าวว่า ปัจจุบันเรายังอยู่ในช่วงความผิดปกติใหม่ (New abnormal) เราจะยังไม่เข้าสู่ “ชีวิตปกติใหม่” (New normal) จะกว่าจะได้วัคซีน แล้วจากนั้นโลกจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล โลกจะแข็งแรงขึ้น แต่ฟื้นตัวช้าใช้เวลา 1 – 2 ปี ประเทศไทยจะอยู่ในทิศทางที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว เพราะได้ผ่านจุดที่แย่ที่สุดไปแล้ว 

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นแนวโน้มในปีหน้าว่า ภาคธุรกิจจะมีการฟื้นตัวแบบตัว “K” ธุรกิจอุปโภค บริโภค และบริการจะกลับมาเร็ว ภาคการส่งออกจะพุ่งขึ้นและกลายเป็นพระเอกในปีหน้า ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวยังคงฟื้นตัวช้าและเติบโตอยู่ที่ฐานล่าง อีกขาหนึ่งของตัว “K” ต้องระวังบริษัทกลุ่มเปราะบาง 30% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ถ้าทิศทางเป็นไปตามโมเดลตัว “K” องค์กรที่เริ่มฟื้นตัวและกำลังปรับตัวเองให้รอดได้ ยังต้องช่วยส่วนอื่นทั้งด้านการเรียนรู้ ด้านการเงิน เพื่อให้สังคมมีขาที่แข็งแรง “อยู่รอด” ไปด้วยกัน
 

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นในรูปแบบของตัว “W” เกิดอาฟเตอร์ช็อคตามมา ธุรกิจต้องใช้โมเดล “2R” กระจายกลุ่มลูกค้า กระจายธุรกิจ เพื่อการกระจายความเสี่ยง (Risk Management) เตรียมตัว เตรียมการณ์ และปรับตัวแบบ Resilience ที่มีความยืดหยุ่น เพื่อ “อยู่เป็น” สามารถรับมืออาฟเตอร์ช็อคที่จะเกิดอีกหลายครั้ง
มองอนาคต 2021 องค์กรต้อง “อยู่รอด อยู่เป็น อยู่ยืน”

หลายธุรกิจไม่สามารถไปเริ่มต้นในอุตสาหกรรมอื่นได้ ผลกระทบที่ได้รับ ทำให้เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจในลักษณะของตัว “L” คนบางกลุ่มสูญเสียความสามารถทางการทำงานอย่างถาวร จากรายงาน WEF Future of Jobs 2020 ธุรกิจท่องเที่ยว MICE การบิน และอสังหาริมทรัพย์ จะกลายเป็นธุรกิจที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 50% จะใช้ออโตเมชั่น 59% จะลดคนที่ไม่จำเป็นต้องใช้ ถ้าองค์กรอยากจะ “อยู่ยืน” นักทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรก็ต้องกลับมานั่งคิดถึงทักษะในอนาคต และทำให้คนในองค์กรมีทักษะนั้นอย่างจริงจัง