เปิดเทคนิคการถ่ายภาพ "ฝนดาวตก"

11 ธ.ค. 2563 | 04:25 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ธ.ค. 2563 | 11:49 น.

เปิดวิธีการถ่ายภาพ "ฝนดาวตก" เตรียมพร้อมรับปรากฎการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์

ฝนดาวตกเจมินิดส์ใกล้เข้ามาอีกนิดแล้ว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม “ฐานเศรษฐกิจ” มีเทคนิคการถ่ายภาพฝนดาวตกจาก "สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ "สดร." (NARIT) แบบฉบับนักดาราศาสตร์มาฝากกัน

ทั้งนี้  ฝนดาวตกเจมินิดส์ มีศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ สังเกตได้ในช่วงวันที่ 4-17 ธันวาคมของทุกปี โดยปีนี้มีอัตราการตกสูงสุดในคืนวันที่ 13 ถึงรุ่งเช้า 14 ธันวาคม 63 คาดมีอัตราการตกสูงสุดประมาณ 150 ดวง/ชั่วโมง ซึ่งจะสังเกตได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เวลาประมาณ 20:30 น. เป็นต้นไป ไม่มีแสงจันทร์รบกวน จึงเหมาะแก่การรับชมและตั้งกล้องถ่ายภาพอย่างยิ่ง
  

สำหรับการถ่ายภาพฝนดาวตกนั้น  ในอดีตนักถ่ายภาพดาราศาสตร์ไม่มีกล้องดิจิทัล และไม่มีโปรแกรมช่วยแต่งภาพอัจฉริยะ แต่ก็สามารถถ่ายภาพฝนดาวตกที่สวยงามได้ด้วยวิธีถ่ายภาพแบบเปิดหน้ากล้องทิ้งไว้ ขณะที่ปัจจุบันมีทั้งเทคโนโลยีและโปรแกรมที่ทันสมัย การถ่ายภาพฝนดาวตกจึงทำได้อย่างสะดวกสบายและได้ภาพที่คมชัดมากยิ่งขึ้น โดยเทคนิคสำคัญที่ใช้คือการ Stack ภาพ เป็นการถ่ายภาพหลาย ๆ ภาพแล้วนำภาพเหล่านั้นมารวมกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

13 ธ.ค.อย่าลืมชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์

 

ส่วนอุปกรณ์ถ่ายภาพฝนดาวตกฉบับนักดาราศาสตร์ ประกอบด้วย 1.กล้องดิจิตอลพร้อมสายลั่นชัตเตอร์ ,2.เลนส์ไวแสง มุมกว้าง ซึ่งข้อได้เปรียบของเลนส์ไวแสงคือ ทำให้ถ่ายติดแสงวาบของฝนดาวตกได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องดัน ISO สูงๆ และช่วงเลนส์มุมกว้างก็ยังทำให้เพิ่มโอกาสการได้ภาพฝนดาวตกที่ติดมาในภาพได้มากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น เลนส์คิตธรรมดาก็สามารถนำมาใช้ในการถ่ายภาพได้เช่นกัน

,3.ขาตั้งกล้องและอุปกรณ์ตามดาว  โดยอุปกรณ์ตามดาวถือเป็นอุปกรณ์ที่นักดาราศาสตร์จำเป็นต้องมีไว้เพื่อใช้ติดตามวัตถุท้องฟ้า ในการถ่ายภาพฝนดาวตกจะช่วยให้เราสามารถนำภาพฝนดาวตกที่มีศูนย์กลางการกระจายตัวเดียวกัน กลุ่มดาวเดียวกัน มาใช้ในการ Stack ภาพในภายหลังได้นั่นเอง หากเราไม่ถ่ายภาพแบบตามดาว ภาพฝนดาวตกที่ได้แต่ละภาพก็จะเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ ตามการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้าทำให้ยากแก่การนำภาพมา Stack ในภายหลัง

อย่างไรก็ดี  ด้านเทคนิคและวิธีถ่ายภาพยนั้น  ได้แก่ 1.ตั้งค่ากล้องก่อนการถ่ายภาพ ดังนี้ เวลาที่ใช้บันทึกภาพ เริ่มตั้งแต่ 30 วินาที หรือมากกว่า ,ใช้ค่ารูรับแสงกว้างๆ เช่น f/1.4 f/2.8 เพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการเก็บแสงวาบหรือลูกไฟของฝนดาวตก ,ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ที่สูงๆ เพื่อให้กล้องไวแสงมากที่สุดขณะเกิดดาวตก เช่น ISO 3200 หรือมากกว่า

เปิดเทคนิคการถ่ายภาพ \"ฝนดาวตก\"

,ตั้งโหมดการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง (Continuous Mode) เพื่อให้กล้องถ่ายภาพต่อเนื่องตลอดช่วงการเกิดฝนดาวตก ,ปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction เพื่อให้กล้องถ่ายภาพต่อเนื่องไม่เว้นช่วงในการถ่าย Dark Frame  ,เปลี่ยนโหมด Color space ให้เป็น Adobe RGB เพื่อให้ขอบเขตสีที่มีช่วงสีที่กว้างกว่าแบบ sRGB ,ปิดระบบกันสั่น และระบบออโตโฟกัสของเลนส์ ,โฟกัสที่ระยะอินฟินิตี้ ซึ่งควรเลือกโฟกัสที่ดาวดวงสว่างให้ได้ภาพดาวที่คมชัดที่สุดเล็กที่สุด โดยใช้ระบบ Live View ช่วยในการโฟกัส

2.ตั้งกล้องห่างจากฉากหน้า โดยให้อยู่ห่างตามค่าระยะไฮเปอร์โฟกัส ซึ่งอาจคำนวณได้จากเว็บไซต์ตามลิงก์ http://www.dofmaster.com/dofjs.html หรือควรห่างไม่น้อยกว่า 3-4 เมตร โดยประมาณ

3.ตั้งกล้องบนขาตามดาว เพราะดาวตกจะพุ่งออกจากบริเวณจุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) ด้วยวิธีนี้จะทำให้เราได้ภาพฝนดาวตกออกมาจากจุดเรเดียนจริงๆ และที่สำคัญคือ เราจะได้ภาพฝนดาวตกมากกว่าการถ่ายภาพบนขาตั้งแบบนิ่งอยู่กับที่ เพราะตำแหน่งจุดศูนย์กลางการกระจาย จะเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ

“การตั้งกล้องบนขาแบบตามดาว ถือเป็นเทคนิคสำคัญในการถ่ายภาพฝนดาวตกเพื่อให้ได้ภาพที่มีจำนวนดาวตกติดมากที่สุด และแสดงให้เห็นการกระจายตัวจากศูนย์กลางได้อย่างชัดเจน”

4.หันหน้ากล้องไปที่จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) โดยให้จุดดังกล่าวอยู่กลางภาพ

5.ถ่ายแบบต่อเนื่อง อย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง โดยใช้ค่าการเปิดหน้ากล้องประมาณ 30 วินาที ต่อ 1 ภาพ หรือมากกว่า

6.ช่วงเที่ยงคืน คือช่วงเวลาที่ดีที่สุด เพราะเป็นเวลาที่ชีกโลกที่เราอยู่จะรับดาวตกที่พุ่งเข้ามาแบบตรงๆ
 7.อยากได้ดาวตกยาวๆ ต้องหลังเที่ยงคืนไปแล้วหรือในเวลาใกล้รุ่ง จะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก จึงทำให้เห็นดาวตกวิ่งช้า
  8.นำภาพฝนดาวตกมารวมกัน จากหลายร้อยภาพก็เลือกเฉพาะที่ติดดาวตกมารวมกันใน Photoshop หรือ Star Stack ก็จะทำให้เห็นการกระจายตัวของฝนดาวตกได้อย่างชัดเจน
  

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญนอกเหนือจากวิธีถ่ายภาพแล้ว ก็คือความรู้ความเข้าใจในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั่นเองครับ สำหรับคืนวันที่ 13 ธันวาคม ใครที่อยากมาถ่ายฝนดาวตกกับ NARIT พร้อมฟังเทคนิคการถ่ายภาพแบบตัวต่อตัวได้ที่ เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำห้วยลาน  ,นครราชสีมา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และฉะเชิงเทรา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา อ.แปลงยาว