ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 382 ราย แบ่งเป็น
- การติดเชื้อในประเทศ 14 ราย จากอยุธยา 1 ราย นครปฐม 2 ราย สมุทรปราการ 3 ราย สมุทรสาคร 5 ราย กทม. 2 ราย ตาก 1 ราย และ การติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวด้วยการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 360 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (Quarantine Facilities) 8 ราย ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร 1 ราย สหรัฐอเมริกา 3 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย ยูเครน 1 ราย คูเวต 1 ราย ซูดาน 1 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โฆษกศบค. เผย นายกฯสั่งสธ.เตรียมเกณฑ์ "ล็อกดาวน์" หลายจังหวัดและทั่วประเทศ
ยังไม่ห้ามจัดเคาท์ดาวน์ "อนุทิน" มั่นใจหน้ากากอนามัยไม่ขาดแคลน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-1 (ศบค.) เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่พบว่ามีการติดเชื้อจากในประเทศ 14 รายของวันนี้ ส่วนใหญ่พบว่ามีความเชื่อมโยงกับตลาดกลางกุ้ง ที่ จ.สมุทรสาคร โดยผู้ป่วยแต่ละรายได้แยกกันเข้าไปรับการรักษาตาม รพ.ต่างๆ แล้ว ทั้งใน จ.สมุทรสาคร, นครปฐม, สมุทรปราการ และในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี ยังมีบางรายที่จะต้องมีการสอบสวนไทม์ไลน์เพิ่มเติม
สำหรับผู้ติดเชื้อที่เป็นแรงงานชาวเมียนมา 360 คนในวันนี้เป็นการตรวจค้นหาในเชิงรุก โดยส่วนใหญ่มากกว่า 90% พบเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการ ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้จะมียอดผู้ติดเชื้อทยอยเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน เพราะแรงงานเมียนมาใน จ.สมุทรสาคร มีการอยู่อาศัยรวมกันเป็นกลุ่มภายในหอพักเดียวกัน โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรอรายงานผลตรวจทางห้องปฏิบัติการอีก 2,600 คน ซึ่งในแผนงานที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้ คือ จะมีการตรวจหาเชื้อในกลุ่มที่มีความเชื่อมโยงกับกรณีถึง 10,300 คน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การดูแลแรงงานเมียนมาที่เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 นี้ ได้ใช้ Model จากประเทศสิงคโปร์เป็นแนวทางในการปฏิบัติ โดยเป็นโรงพยาบาลสนาม ประมาณ 100 เตียงตั้งอยู่ในบริเวณนั้น จะมีการจำกัดพื้นที่ไม่ให้เข้า-ออกนอกหอพัก และมีการติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง หากใครมีอาการรุนแรงก็จะเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลในรูปแบบของ รพ.สนาม
"เรามีการจัดตั้ง รพ.สนาม ไม่ได้เอาคนออกมา การออกแบบวิธีการดูแลแบบนี้ เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ เราจะให้เขาอยู่ในหอพัก ถ้ามีการติด ก็จะติดอยู่ในวงจำกัด เป็นโมเดลที่สิงคโปร์ทำ...ระบบนี้ อาจจะต้องใช้เวลานานหน่อย หลายสัปดาห์ อาจจะเป็นเดือน จะคุมให้อยู่ในวงนี้ ทุกคนที่อยู่ในนี้จะมีระบบสาธารณสุขดูแล มีการส่งข้าว ส่งน้ำให้ หากมีอาการเจ็บป่วย ขอให้รีบแสดงตัว ผู้ว่าฯ สมุทรสาครให้ความมั่นใจว่าจะดูแลได้ อยากให้ทุกคนที่อยู่ในนั้น (หอพัก) มีภูมิคุ้มกัน สามารถต่อสู้กับโรคได้ และขอความร่วมมืออย่าออกไปที่อื่น" โฆษก ศบค.ระบุ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า ในช่วงเช้าที่ผ่านมา รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงได้เข้าประชุมร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. โดยได้มีการรายงานความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร และจังหวัดอื่นๆ ที่มีความเชื่อมโยง ซึ่งในปัจจุบันที่ จ.สมุทรสาคร ได้มีการล็อกดาวน์บางพื้นที่ เพื่อให้การระบาดอยู่ในวงจำกัด ซึ่งเป็นการสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัด ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์การระบาดมีความเชื่อมโยงไปหลายจังหวัด นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขไปพิจารณาและเตรียมจัดทำเป็นหลักเกณฑ์เผื่อไว้ หากมีความจำเป็นจะต้องล็อกดาวน์หลายจังหวัด หรือล็อกดาวน์ทั่วประเทศว่าจะใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณา และให้นำกลับมาหารือกันอีกครั้ง
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังขอให้พิจารณาถึงกรณีการขนส่งสินค้าไปในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ด้วยว่าจะมีการเข้าไปดูแลอย่างไร จะมีการใช้มาตรการแบบตามแนวชายแดนเพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องของผู้ขนส่งสินค้าด้วยหรือไม่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชนผู้บริโภคอาหารจากแหล่งที่มาของ จ.สมุทรสาคร
ส่วนกรณีของสถานศึกษาก็ขอให้มีการดูแล โดยเฉพาะในโรงเรียนเด็กเล็ก ส่วนการชุมนุมทางการเมือง ในช่วงนี้อาจจะยังไม่เหมาะสมที่จะมีการมารวมตัวกันของคนจำนวนมาก พร้อมกับพิจารณาการให้ทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับ จ.สมุทรสาครด้วย