ผ่ายุทธศาสตร์ปฏิบัติการ "กรุงไทย"

02 ม.ค. 2564 | 02:20 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ค. 2564 | 04:06 น.

เราเริ่ม G คือ รัฐ เป็นจุดศูนย์กลาง เชื่อมด้วยบิซิเนสที่เป็นคู่ค้าของลูกค้า มันคือการต่อยอดไปเรื่อยๆ ด้วยดิจิทัล เป็นการ connect the dot เชื่อมจุด แต่ละดอทคือไปสร้างไอทีฟรุตพริ้น และแต่ละฟรุตพริ้น ต้องเป็น API Base ที่ไปต่อกับฟังก์ชั่นอื่นได้

ภาพของธนาคารกรุงไทย ในความรู้สึกของหลายๆ คน คือ แบงก์รัฐที่เน้นให้บริการกับข้าราชการ ซึ่งจริงๆ ก็ผิดนัก เพียงแต่ ณ วันนี้ กรุงไทย ทำอะไรมากกว่าที่คุณคิดเยอะมาก ในระยะเวลาราว 3 ปีครึ่ง ที่ "ผยง ศรีวณิช" เข้ามานำทัพ ในฐานะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เขาได้วางยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจของธนาคารกรุงไทยไว้ตั้งแต่เริ่มต้น จนทำให้ธนาคารมีกำไร แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะผันผวน ดอกเบี้ยต่ำ

"ผยง" ยอมรับตั้งแต่ต้นว่า ตอนที่เข้ามาบริหารกรุงไทย ธนาคารแห่งนี้ค่อนข้างตามหลังคนอื่นมาก แต่ด้วยความตั้งใจที่จะวิ่งตามคู่แข่งให้ทัน ด้วยการยืนอยู่บนจุดแข็งของตัวเอง ซึ่งจุดแข็งนั่นคือ การเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ เพราะฉะนั้น รัฐถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ของกรุงไทย แนวทางที่เดินจึงพยายามตอบโจทย์รัฐให้มากที่สุด ซึ่งนั่นคือ การตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0

ผ่ายุทธศาสตร์ปฏิบัติการ \"กรุงไทย\"

ผู้บริหารท่านนี้ กำหนดเป้าด้วยการสร้าง Ecosystem ของตัวเอง ซึ่งมี 5 ส่วน ได้แก่ 1. Government 2. Education 3. Mass Transit 4. Healthcare และ 5. Payment

โจทย์ตั้งต้นของกรุงไทยคือ รัฐ ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ รวมไปถึงฐานลูกค้าเดิมของธนาคาร คือ ข้าราชการ และลูกค้าต่างจังหวัด เป้าหมายคือการเข้าไปตอบสนองและดูแลลูกค้ากลุ่มนี้อย่างดี เมื่อ 3 ปีที่แล้ว กรุงไทยจึงได้ประกาศแผน "ป่าล้อมเมือง" พยายามเข้าไปตอบโจทย์ด้วยนวัตกรรมดิจิทัลต่างๆ โดยการวางรากฐานในต่างจังหวัด กลุ่มราชการ และรัฐให้แน่น แม้ทรานแซคชั่นจะต่ำ แต่มีจำนวนมาก

ผ่ายุทธศาสตร์ปฏิบัติการ \"กรุงไทย\"

"ผยง" บอกว่า วิธีการเดินตามยุทธศาตร์ของเขาคือ การมองให้ครบ และต้องมองให้ยาว กรุงไทยเอื้อโครงการรัฐ เข้าไปร่วมพัฒนาเพื่อให้ธนาคารและลูกค้ารายนี้เติบโตไปด้วยกัน ยกตัวอย่าง การเข้าไปทำโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้ฐานลูกค้า 14.6 ล้านคนทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีร้านธงฟ้า 8 หมื่นร้านค้า ที่สามารถต่อยอดได้อีก หลังจากนั้น ก็เข้ามาทำโครงการชิมช้อปใช้ ได้บานลูกค้าอีก 10 ล้านคน ร้านค้าเพิ่มเป็นกว่าแสนร้านค้า นั่นคือ การอัพเกรดกรุงไทย เงินอาจจะไม่เยอะ แต่กรุงไทยได้เรียนรู้ และได้โอกาสในการต่อยอดจากคู่ค้าของลูกค้ารายใหญ่ คือ รัฐ

อีกส่วนที่ "ผยง" มองเห็นโอกาส คือ การเข้าไปซัพพอร์ตศาล ที่ต้องการให้กรุงไทยเข้าไปช่วยเรื่องระบบไอที เพื่อยกระดับศาลสู่ Digital Court ทำระบบเงินที่ยื่นเข้าศาล เกิดเป็น e-court นอกจากนี้ ยังขยายสู่ Mass Transit ซึ่งจะมีการเปิดตัวเร็วๆ นี้...มันเป็นคอมเมอร์เชี่ยลรูปแบบใหม่ เป็นการต่อยอดธุรกิจบนอีโคซิสเต็ม บนคู่ค้าของลูกค้าต่อยอดไปเรื่อยๆ ด้วยดิจิทัล และขณะนี้ กรุงไทยเริ่มต่อยอดไปสู่เอกชน ด้วยการทำ Smart Hospital เพิ่มเติม

"เราเริ่ม G คือ รัฐ เป็นจุดศูนย์กลาง เชื่อมด้วยบิซิเนสที่เป็นคู่ค้าของลูกค้า มันคือการต่อยอดไปเรื่อยๆ ด้วยดิจิทัล เป็นการ connect the dot เชื่อมจุด แต่ละดอทคือไปสร้างไอทีฟรุตพริ้น และแต่ละฟรุตพริ้น ต้องเป็น API Base ที่ไปต่อกับฟังก์ชั่นอื่น นั่นคือการเชื่อมด้วยดิจิทัล"

ส่วนความเสี่ยง แน่นอนต้องมี หากรัฐหยุดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ "ผยง" เชื่อมั่นว่า เมื่อประชาชนได้สัมผัสกับความสะดวกสบายผ่านดิจิทัล เพย์เม้นท์แล้ว ยังไงเสีย คนก็จะเกิดความคุ้นเคย อย่างน้อย หากไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่บรรดาร้านค้า และประชาชนทั่วไป ก็น่าจะยังใช้บริการตรงนี้อยู่ไมต่ำกว่า 50%

นอกจากนี้ ในการลงทุนด้านไอที การทรานสฟอร์มของกรุงไทยสู่ดิจิทัลแบงกิ้ง กำลังเดินหน้าไปอย่างสวยงาม ด้วยการออกแบบระบบโครงสร้างไอทีทั้งหมดที่ยึดอยู่บนคลาวด์ และต้องเป็น Integrated Ecosystem ทุกอย่างต้องยึดอยู่บน Cloud Infrastructure ซึ่งทีมต้องต่อยอดได้ ต้อง Integrated to the Ecosystem และ ต้องเป็น Next generation Cyber Security

ผ่ายุทธศาสตร์ปฏิบัติการ \"กรุงไทย\"
 

เรียกว่าวางระบบ ป้องกันความเสี่ยง และพร้อมต่อยอดได้ทั้งหมด เพียงแค่ปลั๊กอินบริการใหม่ๆ เข้าไป ก็สามารถเดินหน้าต่อได้ทันที...นั่นคือ วิธีคิดของผู้บริหารท่านนี้ ที่ย้ำว่า ต้องครบ และครบแบบต่อยอดได้ โดยต้องเก็บทุกส่วนมาต่อยอดให้หมด

จากความคิดที่ครบ รอบ และละเอียดเช่นนี้ กรุงไทย ในมือนักบริหารท่านนี้ ที่เพิ่งต่ออายุในตำแหน่งไปอีก 4 ปี จนถึง 2567 กรุงไทยจะกลายเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐที่น่าจับตาแน่นอน เพราะกรุงไทยกำลังต่อยอดสร้างโปรเจคแซนบ็อกซ์สำหรับการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ควบคู่กับการต่อยอดอื่นๆ อีกมากมาย คู่ขนานไปกับการดูแลลูกค้า แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจริงๆ

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 24 ฉบับที่ 3,640 วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 - 2 มกราคม 2564