รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat"เกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
ประเทศอื่นๆ ที่เคยระบาดซ้ำมาก่อน มีร้อยละ 88 ที่เผชิญกับการระบาดที่รุนแรง และยาวนานกว่าระลอกแรก
ส่วนอีกร้อยละ 12 นั้นสามารถคุมโรคให้ไม่มากไปกว่าระลอกแรกได้ โดยมีกุญแจแห่งความสำเร็จ 3 อย่างคือ
หนึ่ง การตัดสินใจออกมาตรการเข้มข้นเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคโดยไม่รีรอ เพราะเห็นความสำคัญเรื่องชีวิตประชาชนมาเป็นอันดับแรก
สอง การมีระบบการตรวจคัดกรองโรคโควิดมาตรฐานที่สามารถตรวจได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง เข้าถึงได้ง่าย และตรวจจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง
สาม ประชาชนร่วมแรงร่วมใจกันป้องกันตนเองอย่างเต็มที่ และไปตรวจหากสัมผัสความเสี่ยง
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้ หากประเมินแบบอุปมาอุปมัยให้เห็นภาพคงต้องบอกว่ากำลังจะเข้าสู่ขั้นโคม่าครับ
สังเกตได้จากการระบาดที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่อง และจำนวนพื้นที่ที่มีรายงานเคสติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นทุกวัน เราจึงเห็นกระแสในโซเชียลหลายต่อหลายจังหวัดเฝ้ารอดูว่าจังหวัดตัวเองจะถูกตีไข่แตกหรือไม่ และเมื่อไหร่
แต่แค่จำนวนตัวเลขนั้นไม่ใช่อย่างเดียวที่จะบอกว่าโคม่า
สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ มีการติดเชื้อที่อยู่ในหลากหลายกลุ่มประชากรทุกเพศทุกวัย หลากหลายอาชีพ หลายสถานการณ์ หลายกลุ่มก้อน
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีเหตุการณ์การแพร่กระจายวงกว้าง หรือ superspreading events หลายเหตุการณ์เช่นกัน
และสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ มีรายงานเคสติดเชื้อที่ไม่ทราบต้นตอสาเหตุการติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ นี่คือลักษณะสำคัญของการระบาดซ้ำ ที่จะเป็น "key driver to uncontrollable situation" แปลว่าเป็นตัวนำไปสู่การระบาดที่ควบคุมไม่ได้ในเวลาอีกไม่นาน
เพราะในการใช้ชีวิตประจำวันของเราตอนนี้ จะมีคนที่ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว ทั้งแบบที่ไม่มีอาการและมีอาการ อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วไปครับ
ไม่ใช่แค่"เค้า" แต่อาจรวมถึง "ตัวเรา" หรือ "สมาชิกในครอบครัว" หรือ "ญาติสนิทมิตรสหาย"
ทุกคนจึงมีสิทธิที่จะติดเชื้อจากคนอื่นโดยไม่รู้ตัว หรือแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว...หากเราไม่ป้องกันโดยการใส่หน้ากาก 100%, ไม่รักษาระยะห่างเวลาพบเจอกันพูดคุยกัน, ไม่ล้างมือหลังจากจับมือถือแขนหรือโอบกอดกัน, หรือไม่ลดละเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงที่มีคนหมู่มากมาอยู่กันอย่างใกล้ชิดแออัด
ที่เจอกันมามากมายในประเทศต่างๆ นั้น จะแพร่กันมากขึ้น ไวขึ้นในช่วงการระบาดซ้ำคือ
1. การแพร่กันในบ้าน พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ลูกหลาน
2. ปาร์ตี้ทุกชนิดที่ชวนเพื่อนฝูงมาสังสรรค์กันมากหน้าหลายตา
3. งานแต่งงาน งานศพ งานบวช งานวัด ทำบุญตักบาตรเป็นหมู่คณะ หรืออื่นๆ
4. คอนเสิร์ต การแสดงต่างๆ งานเคานท์ดาวน์
5. ทริปเที่ยวกันเป็นหมู่คณะ
6. ร้านอาหาร ผับ บาร์ สนามกีฬา หรือกิจการเสี่ยงอื่นๆ
7. ขนส่งสาธารณะ ทั้งบนบก ในน้ำ หรือทางอากาศ
เหล่านี้คือสิ่งที่แต่ละจังหวัดควรพิจารณาดำเนินมาตรการเข้มข้นเพื่อป้องกันการระบาดของโรค
และเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรรู้ และระมัดระวังในการใช้ชีวิตประจำวันในเวลานี้ ไม่ว่าจะอยู่จังหวัดใดก็ตาม
หากปลายสัปดาห์นี้ สถานการณ์ภาพรวมของประเทศยังไม่ดีขึ้น และไม่ตัดสินใจดำเนินมาตรการที่เหมาะสมอย่างทันเวลา คาดการณ์ว่าคลื่นระบาดลูกที่สองนี้ อาจทำให้เรามีการติดเชื้อใหม่รวมอย่างน้อย 23,000-33,000 คน และใช้เวลาต่อสู้อย่างหนักหน่วงนานราว 3 เดือน
ปีใหม่นี้...อยู่บ้านกันเถอะนะครับ ด้วยรักต่อทุกคน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง