สรุป​ ประกาศ คำสั่ง ศบค. ข้อห้ามใน "พื้นที่ควบคุมสูงสุด" มีผลแล้ววันนี้​ 4 ม.ค.

03 ม.ค. 2564 | 21:00 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ม.ค. 2564 | 05:32 น.

สรุป​ ประกาศ คำสั่ง ศบค.-ข้อกำหนด ในเขต​ "พื้นที่ควบคุมสูงสุด" มีผลแล้ววันนี้​4 ม.ค.​ สิ่งไหนทำได้ มีข้อห้ามอย่างไร ตรวจสอบได้ที่นี่แบบเข้าใจง่าย

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ภายในประเทศ ล่าสุดเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. เพื่อใช้บริหารจัดการและเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดระลอกใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

 

ฉบับแรก คือ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 16 ) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 6 โมงเช้า ของวันที่ 4 มกราคม 2564 โดยสาระสำคัญของ ข้อกำหนดและข้อห้าม ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับนี้ ประกอบด้วย  

 

ข้อ 1 ห้ามใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทเพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทํากิจกรรมใดๆที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก

สิ่งที่สามารถ "ทำได้" คือ 

  • เรียนทางไกล ออนไลน์
  • ใช้สถานที่เป็นที่ความช่วยเหลือ อุปการะแก่บุคคล
  • ใช้สถานที่จัดกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยได้รับอนุญาต จากผู้ว่าฯ
  • โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจํานวนนักเรียนรวมทั้งโรงเรียนไม่เกิน 120 คน เปิดทำการสอนได้

 

ข้อ 2 ห้ามจัดการประชุม การสัมมนา การจัดเลี้ยง การแจกจ่ายอาหารหรือสิ่งของต่างๆ โดยให้ผู้ว่าฯ กําหนดหลักเกณฑ์ การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่

 

ข้อ 3 ปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด

 

ข้อ 4 

  • การขายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้จัดระเบียบการเข้าใช้บริการ จํานวนผู้นั่งกินในร้าน การจัดสถานที่ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรค หรืออาจให้เป็นลักษณะของการนํากลับไปกินที่บ้าน
  • ห้ามการดื่มสุรา และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
  • ร้านที่เปิดได้ตามเวลาปกติ คือ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่ให้ทำตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด

 

ข้อ 5 ให้ผู้ว่าฯมีอำนาจในการสั่งปิด จํากัด หรือห้ามการดําเนินการของพื้นที่ สถานที่ หรือพาหนะหรือสั่งให้งดการทํากิจกรรมอื่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

 

ข้อ 6 การตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัดให้พิจารณาถึงความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ

  • ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดเว้นแต่กรณีมีเหตุจําเป็น ต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

 

ข้อ 7 ขอความร่วมมือภาคเอกชนพิจารณารูปแบบการปฏิบัติงาน ทำงานเหลื่อมเวลา work from home

 

ข้อ 8 ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจ มีอำนาจพิจารณาผ่อนคลายมาตรการป้องกัน และเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุญาตให้ผ่อนคลายหรือกระชับมาตรการที่ตามที่เห็นสมควร

อีกฉบับ คือ คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ 1/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด รวมทั้งสิ้น 28 จังหวัด ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.64 จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น  

 

สำหรับ 28 จังหวัดที่ถูกกำหนดให้เป็น "พื้นที่ควบคุมสูงสุด" ตามคำสั่ง ศบค. ฉบับนี้ ประกอบด้วย

1.กรุงเทพมหานคร

2.จังหวัดกาญจนบุรี

3.จังหวัดจันทบุรี

4.จังหวัดฉะเชิงเทรา

5.จังหวัดชุมพร

6.จังหวัดชลบุรี

7.จังหวัดตราด

8.จังหวัดตาก

9.จังหวัดนครนายก

10.จังหวัดนครปฐม

11.จังหวัดนนทบุรี

12.จังหวัดปทุมธานี

13.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

14.จังหวัดปราจีนบุรี

15.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

16.จังหวัดเพชรบุรี

15.จังหวัดราชบุรี

18.จังหวัดระนอง

19.จังหวัดระยอง

20.จังหวัดลพบุรี

21.จังหวัดสิงห์บุรี

22.จังหวัดสมุทรปราการ

23.จังหวัดสมุทรสงคราม

24.จังหวัดสมุทรสาคร

25.จังหวัดสุพรรณบุรี

26.จังหวัดสระแก้ว

27.จังหวัดสระบุรี

28.จังหวัดอ่างทอง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ราชกิจจาฯ คำสั่ง ศบค. พื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด

ราชกิจจาฯเผยแพร่ ข้อกำหนด ข้อห้าม ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด