จากกรณีแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ เชื้อโควิด19 เริ่มแพร่ระบาดระลอกใหม่ เป็นผลให้รัฐบาลต้องสั่งปิดสถานที่หลายแห่งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ผลกระทบที่รัฐบาลสั่งปิดสถานที่ทำให้ผู้ประกอบการขาดรายได้ เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ ด้วยเหตุนี้เองทาง ประกันสังคม หรือ สปส. ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือนายจ้าง และ ลูกจ้าง กรณีว่างงาน จากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19
ความคืบหน้าในเรื่่องนี้ นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดระลอกใหม่ และมีแนวโน้มว่าจะมีการแพร่ระบาดมากขึ้น จนรัฐได้มีคำสั่งปิดสถานที่ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการหลายประเภทส่งผลกระทบโดยตรงต่อการประกอบกิจการที่ถูกสั่งปิดกิจการชั่วคราว ซึ่งในการนี้ สำนักงานประกันสังคมได้มีความพร้อมรองรับการให้บริการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยแก่ผู้ประกันตน ตาม "กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฏหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563"
นายทศพล ชี้แจงว่า กฏกระทรวงดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 โดยผู้ประกันตนที่จะได้รับสิทธิ ต้องเป็นลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีเงินสมทบครบ 6 เดือนใน 15 เดือน จึงจะเกิดสิทธิรับเงินประกันสังคมกรณีว่างงาน แต่ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือไม่ได้ทำงานเนื่องจากนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ และลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ให้ลูกจ้างดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรคหรือมีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว แล้วแต่กรณีแต่รวมกันไม่เกิน 90 วัน
สำหรับช่องทางการขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุโควิด-19 ในครั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม กำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ดำเนินการขอรับได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2564 ดังนี้
1. ลูกจ้างผู้ประกันตนมีหน้าที่ กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7 สามารถdownload แบบได้ที่ www.sso.go.th) แล้วนำส่งให้นายจ้าง พร้อมแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก ขอเน้นย้ำเรื่องเบอร์โทรศัพท์ติดต่อและเลขบัญชีธนาคารที่ถูกต้อง
2. นายจ้างมีหน้าที่รวบรวมแบบคำขอประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) จากลูกจ้าง
3. บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service บน www.sso.go.th
4. รวบรวมแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) ของลูกจ้าง ที่ได้บันทึกแล้วในระบบ e-Service บน www.sso.go.th ไปยังสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service
5. ข้อมูลถูกต้องครบถ้วนสำนักงานประกันสังคมจะโอนเงินเข้าบัญชีภายใน 5 วันทำการ กรณีเงินไม่เข้าบัญชี โทร.สายด่วน 1506
นายทศพล ย้ำว่า ในการขอรับสิทธิประโยชน์ว่างงานจากเหตุโควิด-19 นายจ้างและลูกจ้างผู้ประกันตน ต้องดำเนินการตามข้อ1 และ ข้อ 2 และขอย้ำว่าลูกจ้างผู้ประกันตนไม่ต้องเดินทางมายังสำนักงานประกันสังคม และหากดำเนินการดังที่กล่าวครบถ้วน เงินจะโอนเข้าบัญชีภายใน 5 วันทำการ และรอบตัดจ่ายกำหนดทุกสิ้นเดือนถัดไป หรือจนกว่าจะครบวันที่สถานประกอบการมีกำหนดปิด
"เพื่อความชัดเจน ขอย้ำว่าลูกจ้างผู้ประกันตนที่จะได้รับสิทธิดังที่กล่าว จะต้องเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าทำงาน และนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างเท่านั้น" เลขาธิการ สปส.กล่าว
นายทศพล ระบุว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้สำนักงานประกันสังคมเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบภาวะวิกฤตโควิด-19 ทุกด้าน เพื่อหาแนวทางกำหนดมาตรการแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาล เพื่อเร่งเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนนายจ้าง และผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ให้มากที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ประกันสังคม"แจ้งขอรับสิทธิประโยชน์ว่างงานโควิดพร้อมให้บริการ 4 ม.ค.นี้
ผู้ประกันตนเฮ ! เงินสงเคราะห์บุตรประกันสังคมปรับเพิ่มเป็น800 บาท เริ่มงวดม.ค.นี้
มีผลแล้ว! ประกันสังคมเพิ่มค่าฝากครรภ์ 1,500 บาท คลอด 1.5 หมื่นบาท