5 มกราคม 2564 นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโค-19 รอบใหม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกกลุ่ม บสย. ได้เร่งดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยมีการออกมาตรการช่วยผู้ประกอบการเปราะบางสู้ภัยโควิด-19 จำนวน 2 โครงการ
1.โครงการบสย. เอสเอ็มอี ไทย สู้ภัยโควิด วงเงินค้ำประกันสินเชื่อรายละ 2 แสนบาท ถึง 20 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี วงเงินจัดสรร 5,000 ล้านบาท โดย บสย.ชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ให้กับสถาบันการเงิน ( MAX CLAIM) สูงสุด 35%
2.โครงการบสย. รายย่อยไทย สู้ภัยโควิด วงเงินค้ำประกันสินเชื่อต่อราย 1 หมื่นบาท – 1 แสนบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี วงเงินจัดสรร 5,000 ล้านบาท MAX CLAIM สูงสุด 40% โดย บสย. จะเปิดรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อทั้ง 2 โครงการ ถึงวันที่ 31 ม.ค. นี้
นอกจากนี้ยังมีโครงการสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไป 4 โครงการ ระยะเวลาค้ำประกันสินเชื่อ 10 ปี ซึ่งประกอบด้วย
1.โครงการบสย. เอสเอ็มอีดีแน่นอน วงเงินค้ำประกันต่อราย ตั้งแต่ 2 แสนบาท -100 ล้านบาท วงเงินจัดสรร 20,000 ล้านบาท
2.โครงการบสย.เอสเอ็มอีบัญชีเดียว วงเงินค้ำประกันต่อราย ตั้งแต่ 2 แสนบาท -100 ล้านบาท วงเงินจัดสรร 5,000 ล้านบาท
3.โครงการบสย. เอสเอ็มอีที่ได้รับสินเชื่อหนังสือค้ำประกัน (LG) วงเงินค้ำประกันต่อราย ตั้งแต่ 2 แสนบาท - 100 ล้านบาท วงเงินจัดสรร 2,000 ล้านบาท
4.โครงการบสย. รายย่อยทั่วไป วงเงินค้ำประกันต่อราย ตั้งแต่ 1 หมื่นบาท – 5 แสนบาท วงเงินจัดสรร 3,000 ล้านบาท
"ทั้ง 6 โครงการค้ำประกันสินเชื่อร่วมกับธนาคารพันธมิตรช่วยเหลือเร่งด่วน จัดสรรวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 100,000 ล้านบาท ครอบคลุมกลุ่มผู้ประกอบการเปราะบางและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไป คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ 4 หมื่นราย และรายย่อยอีก 1 แสนราย" นายรักษ์ กล่าว
ส่วนการดำเนินงานโครงการ “บสย. SMEs รายย่อยทั่วไป” ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนต้องพึ่งเงินทุนนอกระบบ จากการที่ธนาคารเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อซึ่งในส่วนนี้ บสย. มีนโยบายส่งเสริมให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเพื่อให้เอสเอ็มอีลดการใช้เงินกู้นอกระบบ โดย บสย. ได้ขยายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ จากเดิมสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย เป็น 500,000 บาทต่อราย และ รับความเสี่ยงค้ำประกันสินเชื่อเต็มจำนวน 100% เพื่อให้ บสย. เป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการค้ำประกันสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ บสย. ยังได้ร่วมค้ำประกันสินเชื่อในโครงการซอฟท์โลนพลัส ของธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ไทย วงเงิน 55,000 ล้านบาท และโครงการ บสย. เอสเอ็มอีไทยชนะ วงเงิน 5,000 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บสย. พักค่าธรรมเนียม 6 เดือน ช่วย SMEs 11 จังหวัดใต้