วันที่ 6 ม.ค. 64 เวลา 11.30 น. ในการแถลงข่าวรายงานสถานการณ์การแพร่เชื้อของโควิด-19 ของ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศบค. ได้เปิดเผยรายละเอียดของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดช่วงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 6 มกราคม 2564 จำนวน 56 จังหวัด มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรวม 4,868 ราย โดยมีรายละเอียดดังนี้
- สมุทรสาคร จำนวน 2,938 ราย
- ชลบุรี จำนวน 416 ราย
- ระยอง จำนวน 407 ราย
-กรุงเทพมหานคร จำนวน 278 ราย
- จันทบุรี จำนวน 184 ราย
- สมุทรปราการ จำนวน 151 ราย
- นนทบุรี จำนวน 104 ราย
- นครปฐม จำนวน 67 ราย
- ตราด จำนวน 31 ราย
- ปทุมธานี จำนวน 31 ราย
- อ่างทอง จำนวน 25 ราย
- เพชรบุรี จำนวน 24 ราย
- ราชบุรี จำนวน 20 ราย
- สมุทรสงคราม จำนวน 19 ราย
- ฉะเชิงเทรา จำนวน 15 ราย
- ตาก จำนวน 13 ราย
- พระนครศรีอยุธยา จำนวน 12 ราย
- สระบุรี จำนวน 11 ราย
- ลพบุรี จำนวน 4 ราย
- สิงห์บุรี จำนวน 3 ราย
- สุราษฎร์ธานี จำนวน 10 ราย
- นครราชสีมา พิจิตร จำนวนจังหวัดละ 9 ราย
- ชัยนาท จำนวน 8 ราย
- ปราจีนบุรี ชัยภูมิ จำนวน 7 ราย
- กระบี่ จำนวน 6 ราย
- สุรินทร์ จำนวน 5 ราย
- กาญจนบุรี เชียงใหม่ 4 ราย
ส่วนจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจังหวัดละ 3 ราย ได้แก่ ลำปาง ขอนแก่น อุตรดิตถ์ สุพรรณบุรี ภูเก็ต 3
ส่วนจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจังหวัดละ 2 ราย ได้แก่ สระแก้ว อุบลราชธานี อำนาจเจริญ นครสวรรค์ กำแพงเพชร นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล
ส่วนจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจังหวัดละ 1 ราย ได้แก่อุดรธานี เลย หนองคาย มหาสารคาม ลําพูน น่าน สุโขทัย เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ตรัง นราธิวาส
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศศบค. กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ในประเทศไทยวันนี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 365 ราย ในจำนวนนี้เป็นการผู้ติดเชื้อในประเทศ 250 ราย การค้นหาเชิงรุกในแรงงานต่างด้าว 99 ราย อยู่ในสถานกักตัวของรัฐ 16 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 9,331 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้จะครบหมื่นรายแล้ว จึงขอให้ช่วยกัน เพราะไม่ต้องการเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
ขณะที่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 63 ปี เป็นชาว จ.พระนครศรีอยุธยา อาชีพขับรถรับส่งแรงงานต่างด้าวใน จ.สมุทรสาคร มีโรคประจำตัวคือ ความดันโลหิตสูง เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เข้ารักษาที่โรงพยาบาลสมุทสาคร ออกซิเจนในเลือดต่ำ ปอดอักเสบ และตรวจพบเชื้อโควิด-19 จากนั้นวันที่ 30 ธ.ค. มีอาการหอบมากขึ้น หายใจลำบาก ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และย้ายไปยังห้องไอซียู วันที่ 31 ธ.ค.อาการไม่ดีขึ้น มีอาการไตวาย จึงต้องฟอกเลือดทุกวัน จนกระทั่งวันที่ 5 ม.ค. หัวใจหยุดเต้น อวัยวะภายในหลายส่วนล้มเหลว ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 66 ราย ทั้งนี้ อัตราการเสียชีวิตในประเทศไทย อยู่ที่ 1-2%
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ 250 รายนั้น มีประวัติไปสถานที่เสี่ยง มีอาชีพเสี่ยง และสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า 215 ราย อยู่ระหวางสอบสวนโรค 35 ราย ส่วนสถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 86,832,019 ราย เสียชีวิตสะสม 1,875,451 ราย และมีภาพที่น่าตกใจคือ ที่เมืองลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา มีภาพที่ต้องประเมินผู้ป่วยหากคิดว่าใครไม่สามารถช่วยชีวิตได้ก็ไม่ให้นำส่งโรงพยาบาล ปล่อยให้เสียชีวิตที่บ้าน ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นที่สหรัฐฯ เนื่องจากมีการติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้ทรัพยากรในการรักษาไม่เพียงพอ ก็ขอภาวนาให้คนที่อยู่ในสหรัฐฯ บรรเทาสถานการณ์ลงได้ และขอให้อย่ามาเกิดกับเรา
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินหรือศูนย์อีโอซี (EOC) ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการวิเคราะห์เรื่องการกระจายตัวในพื้นที่ จ.สมุทรสาครว่าพื้นที่ดังกล่าวมีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก มีโรงงงานในพื้นที่กว่า 11,467 แห่ง ทำให้เราต้องเร่งเข้าไปตรวจในพื้นที่โรงงานเพื่อเข้าไปดูให้มั่นใจ ไม่ให้เป็นที่แพร่ระบาดเชื้อโรค และนอกจากโรงงานแล้วยังเข้าไปตรวจทั้งตลาดและที่พักเพื่อวางแผนเชิงรุกให้การตรวจครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่วนโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร มีแล้วทั้งสิ้น 2 แห่ง ส่วนที่มีข่าวว่าจังหวัดข้างเคียงคัดค้านการตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จาก จ.สมุทรสาครนั้น
อยากจะบอกว่ายังมีข่าวดีๆ เกี่ยวกับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งคนในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร พร้อมจะให้ใช้พื้นที่ส่วนตัวของตัวเองตั้งโรงพยาบาลสนามดูแลคนสมุทรสาครจำนวน 4-6 พื้นที่ หลังจากนี้ สธ.ต้องมองข้ามไปวันข้างหน้า ประเมินสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจจะมีสูง เราต้องเตรียมพื้นที่ไว้ล่วงหน้า จึงต้องวางแผนไว้ก่อน เพราะการตั้งโรงพยาบาลสนามต้องใช้เวลา เบื้องต้นเราจะใช้โรงพยาบาลสนามของจังหวัดนั้นๆ เพื่อดูแลคนของจังหวัดตัวเอง
เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างพื้นที่ควบคุมสูงสุดกับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัดที่ประกอบด้วย สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด รวมถึงเจตนาในการแยกคืออะไร เพราะไม่อยากใช้คำว่าล็อคดาวน์ใช่หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ควบคุมสูงสุดมีทั้งสิ้่น 28 จังหวัด มีมาตรการที่ทั้ง 28 จังหวัดต้องดำเนินการคือ คนที่เข้าพื้นที่ต้องรับการตรวจอุณภูมิ สังเกตอาการ และต้องรับการตรวจว่ามีแอพพลิเคชั่นหมอชนะหรือไม่ รวมถึงสอบถามเหตุผลความจำเป็นในการเดินทาง โดยเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการปิดแหล่งที่อาจแพร่เชื้อ เช่น บ่อน ร้านอาหาร แต่ไม่ทำให้เกิดการชัตดาวน์ ล็อกดาวน์ ไม่มีเคอร์ฟิว ไม่ปิดการเดินทาง
ขณะที่พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มี 5 จังหวัด คือ มีมาตรการเพิ่มเติมขึ้นมา ผู้ที่จะเดินทางเข้าพื้นที่ต้องแสดงหลักฐานการได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ใครจะเดินทางเข้าพื้นที่หรือไปไหนมาไหนในพื้นที่ต้องแสดงหลักฐาน พ่อค้าแม่ค้าจะขายอาหารก็ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่รับทราบก่อน ผู้คนในพื้นที่อาจจะต้องลำบากกันสักหน่อย มาตรการเหล่านี้จะใช้ถึงวันที่ 1 ก.พ. ใครที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการเดินทางก็ขอให้ชะลอไว้ก่อน
แต่ถ้าตัวเลขต่างๆ แสดงถึงความน่ากลัว และพุ่งขึ้นในทิศทางที่ชันเราคงไม่ต้องรอถึงวันที่ 1 ก.พ. อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ระบุว่าคงต้องดูสถานการณ์เป็นรายวัน ถ้าไม่ดีก็ต้องเข้มงวด อาจจะมีคำว่าเข้มงวดสูงสุดหรืออีกหลายๆ เข้มขึ้นมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยอดผู้ติดเชื้อโควิด (6 ม.ค.64) รายใหม่ 365 ราย ในประเทศ 250 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน
เช็กด่วน! รายชื่อ 14 ห้างดัง “ช่าง” ติดเชื้อโควิด เดินสายติดตั้งกล้องวงจรปิด
"บ่อนไก่"พ่นพิษ แพร่โควิด-19 ลาม 5 จังหวัด ติดเชื้อแล้ว 38 ราย