สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด"โรงงานปลากระป๋องสมุทรสาคร"

06 ม.ค. 2564 | 22:45 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2564 | 22:57 น.

เปิดข้อเท็จจริงยอดผู้ติดเชื้อโควิด"โรงงานปลากระป๋องสมุทรสาคร"จำนวน 914 ราย สธ.ยันเป็นยอดสะสมต่อเนื่องและเป็นการตรวจค้นหาเชิงรุกจากโรงงาน พัทยาฟู้ด ด้าน ไทยยูเนี่ยน พบผู้ติดเชื้อ 69 ราย ยืนยันโรงงานยังเดินหน้าผลิตตามปกติ

กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับยอดผู้ติดเชื้อโควิดจากโรงงานปลากระป๋องสมุทรสาคร หลังจากก่อนหน้านั้นเกิดคำถามว่าเป็นยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่หรือไม่อย่างไร  โดยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกมายืนยันว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิดในโรงงานอาหารกระป๋องที่สมุทรสาครมีจำนวน 914 ราย (วันที่ 6 ม.ค. 64)  ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นผู้ติดเชื้อโควิดสะสมที่รายงานตัวเลขไปแล้วเมื่อ 2-3 วันก่อน


สำหรับตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อจำนวน 914 รายนั้นเป็นผลมาจากการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อในเชิงรุกในโรงงานบริษัท พัทยา ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน  3,000 ราย และได้แจ้งตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดมาต่อเนื่องเมื่อ 2 -3 ก่อนจำนวน 500 กว่าราย และ 400 กว่าราย

 

นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดในโรงงานหรือตลาด ทางกระทรวงสาธารณสุขฯจะไม่ให้ออกนอกพื้นที่เหมือนกรณีตลาดกลางกุ้ง  ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของโรงงานตั้งโรงพยาบาลสนามดูแล โดยเบื้องต้นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย เมื่อได้รับการดูแล 10 วันจะไม่แพร่เชื้อต่อ ส่วนผู้ที่ยังอยู่ในโรงงานจะดูแลและตรวจหาเชื้อเป็นระยะ เพื่อแยกผู้ติดเชื้อกับไม่ติดเชื้อต่อไป

 

"ส่วนที่หลายคนมีความกังวลใจว่าผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องที่โรงงานดังกล่าวจะรับประทานได้หรือไม่นั้น ก็ขอเรียนว่ากระบวนการผลิตของโรงงานมีมาตรการฆ่าเชื้อตามมาตรฐาน สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ ประชาชนรับประทานได้ไม่ต้องกังวล"

ขณะที่ฝั่งบริษัท พัทยา ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลบรรจุกระป๋องตรานอติลุส และ นอติลุส ไลท์ ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่าได้รับการยืนยันว่ามีพนักงานจำนวนหนึ่งติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงได้ดำเนินการสอบสวนและกักตัวผู้ที่มีความเสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อทันที รวมถึงดำเนินการตามมาตรการและแนวทางในการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเร่งด่วนเข้มข้นสูงสุด ดังนี้


1.ส่งพนักงานที่มีความเสี่ยงทุกคนในการสัมผัสผู้ติดเชื้อเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทันที และให้พนักงานกักตัวเพื่อดูอาการเป็นเวลา 14 วัน หากพบการยืนยันว่าพนักงานติดเชื้อจะให้ดำเนินการตามแนวทางภาครัฐอย่างเคร่งครัด 


2.โรงงานสั่งหยุดกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อ พร้อมดำเนินการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อทันที ในพื้นที่ดังกล่าวตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค


3.ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับพนักงานทุกส่วนงานของโรงงานมหาชัย โดยได้ประสานงานกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขและส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของจังหวัดสมุทรสาครใกล้ชิดเพื่อรับรายงานผลการตรวจยืนยันหากพบผู้ติดเชื้อ 


รวมถึงขอคำแนะนำและดำเนินการตามมาตรการต่างๆของภาครัฐอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้บริษัทยังให้พนักงานบางส่วนรายงานตัวเพื่อที่จะตรวจซ้ำอีกครั้งหากมีข้อบ่งชี้ที่น่าสงสัย 


4.ให้ทุกหน่วยงานของบริษัท ดำเนินมาตรฐานตามสุขอนามัยขั้นสูงสุด เพื่อที่จะดูแลความปลอดภัยให้กับพนักงาน และผลิตภัณฑ์ของบริษัท 

 

 

ขณะที่อีกหนึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ที่โรงงานตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาครอย่าง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายอาหารทะเลแช่แข็งละบรรจุกระป๋อง ก็ได้เปิดเผยว่า บริษัทได้เร่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับพนักงานบริษัทฯทุกคนในจังหวัดสมุทรสาคร รวม 27,522 คน 


โดยข้อมูล ณ วันที่ 5 มกราคม 2564  พนักงานไทยยูเนี่ยนจำนวน 23,630 คน หรือมากกว่า 85% ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้ว ส่วนจำนวนพนักงานที่ปฏิบัติงานในจังหวัดสมุทรสาครมีทั้งสิ้น 27,552 คน  และได้รับผลการตรวจยืนยันโดยวิธี PCR มีพนักงานที่ติดเชื้อเพียง 0.29 เปอร์เซ็นต์ หรือ 69 คน


ทั้งนี้แนวทางของบริษัท ได้ทำการแยกพนักงานกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิดเพื่อกักตัวและส่งรักษากับทางภาครัฐต่อไป ทั้งนี้การตรวจทั้งสิ้นจะแล้วเสร็จในช่วงสัปดาห์หน้า


นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงงานของไทยยูเนี่ยนทุกโรงยังคงเปิดดำเนินการตามปกติเนื่องจากจำนวนพนักงานที่ได้รับผลกระทบมีอัตราและจำนวนที่น้อยมาก โดยบริษัทฯ มีมาตรการคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาปฏิบัติงานที่โรงงาน  


"การผลิตยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง แต่ได้งดการประชุมติดต่อ ซึ่งครอบคลุมทั้งพนักงานบริษัทฯ และผู้ที่มาติดต่อ ยกเว้นธุรกรรมที่จำเป็นเท่านั้นและต้องได้รับอนุญาตจากคณะผู้บริหารของบริษัทฯ"


นอกจากนั้นแล้วบริษัทยังมีการจำกัดการเคลื่อนย้ายพนักงานภายในโรงงานเองและให้ฝ่ายสนับสนุนต่างๆ ทำงานจากบ้าน  มีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อต่าง ๆ ในบริเวณสถานที่ปฏิบัติงาน รวมถึงให้พนักงานปฏิบัติตามข้อแนะนำด้านสุขภาพและความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด