วันที่ 7 ม.ค. 63 เว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่เนื้อหาของจุลสารราชดำเนิน ถึงเบื้องหลังการพบปะพูดคุยระหว่าง ศบค. กับสื่อมวลชน โดยในการประชุมมีการระบุเนื้อหาที่น่าสนใจว่า
วันที่ 7 ม.ค. เวลา 13.30น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. นำโดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธานการประชุมร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน อาทิ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และตัวแทนสื่อมวลชนจากสำนักต่างๆ
นอกจากนี้ยังมี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย กสทช. สำนักงานรัฐบาลดิจิทัล ศูนย์ปฏิบัติการนายกรีฐมนตรี สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ อสมท.
โดยพล.อ.ณัฐพล กล่าวเปิดการประชุมโดยแนะนำโครงสร้างการทำงานของศบค. และยอมรับว่าตัวเองเป็นคนที่กลัวการให้ข่าวกับสื่อมวลชน แต่วันนี้ยินดีที่จะพบและต้องการรับฟังความคิดเห็นจากสื่อมวลชน และนับตั้งแต่รับตำแหน่งเลขาสมช.มา และรับราชการมา 37ปี ยอมรับว่าโควิดเป็นสถานการณ์การที่หนักที่สุด เพราะเมื่อมีมาตรการเข้มไปก็โดนตำหนิ เมื่อผ่อนคลายก็ถูกตำหนิ ซึ่งเป็นการทำงานบนความคิดเห็นที่แตกต่างของสังคมในการแก้ไขสถานการณ์
พล.อ.ณัฐพล กล่าวอีกว่า การแก้ไขสถานการณ์โควิดมีสองส่วน คือ 1.ความสำเร็จของการแพทย์ สาธารณสุข 2.การบริหารความรู้สึก ความเข้าใจของประชาชน หากทั้งสองส่วนทำได้มากกว่า 80% จะสามารถทำให้ช่วยควบคุมสถานการณ์และยืนระยะได้
"ตอนนี้เราต้องทำความสำคัญกับการทำความเข้าใจกับสังคม วันนี้ผมจึงต้องการคำแนะนำจากพี่ๆสื่อมวลชนทุกท่าน เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานของศบค.ต่อไป"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นเป็นการเปิดให้สื่อมวลชนได้แสดงความคิดเห็นการทำงาน การสื่อสารของศบค.
เริ่มจากประเด็นของ Timeline ผู้ติดเชื้อโควิด ที่บางจังหวัดก็ไม่ทำ Timeline บางจังหวัดเขียนละเอียดมากจนสามารถรู้ชื่อ นามสกุล รู้ได้เลยว่าบ้านหลังไหน โดยมีการยกตัวอย่าง นนทบุรี และนครปฐม แต่บางจังหวัด อาทิ กทม. เขียนแบบกลัวโดนฟ้อง ใช้คำว่า สถานที่แห่งหนึ่ง ร้านแห่งหนึ่ง ทำให้คุมเครือไม่ชัดเจน จนบางครั้งก็สงสัยว่าทำทำไม
จึงมีการเสนอให้ ศบค.ให้นโยบายและกำหนดให้เป็น Template หรือ รูปแบบการเเขียน Timeline แบบเดียวกันทั้งหมดจะได้หรือไม่
"หมอทวีศิลป์" ชี้แจงว่า เรื่องไทม์ไลน์ เป็นเรื่องที่พยายยามทำอย่างเต็มที่ แต่ด้วยสเกลของข้อมูลมีจำนวนมากในบางพื้นที่ก็จะใช้วิธีการกรุ๊ปกลุ่ม เพราะไม่สามารถทำไทม์ไลน์ได้ทุกคน เช่นเดียวกับหลายประเทศ รวมทั้งสิงคโปร์ที่ไม่สามารถรายงานไทม์ไลน์ได้ เนื่องจากข้อมูลเขาก็เยอะเหมือนเรา จึงทำเป็นกลุ่มก้อนเฉพาะ"
ประเด็นแอปพลิเคชั่น ไทยชนะ-หมอชนะ
มีการพูดถึงแอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับโควิดที่มีมากเกินไป ทั้งไทยชนะ หมอชนะ ถ้าไปเชียงใหม่ก็มี เชียงใหม่ชนะ อยู่กทม.ก็มีของตัวเองอีก จึงขอให้ศบค.ทำให้เหลือเพียงแอปพลิเคชั่นเดียวจะได้หรือไม่
แต่ทั้งนี้ส่วนใหญ่ในที่ประชุมท้วงติงกรณีการแถลงข่าวของ โฆษกศบค. รอบวันที่ 7 ม.ค. ที่ระบุว่า ถ้าประชาชนใน "พื้นที่ควบคุม" ไม่ดาวน์โหลดหมอชนะ จะมีความผิดและต้องรับโทษ
ซึ่ง หมอทวีศิลป์ ใช้โอกาสนี้ในชี้แจง พร้อมกับขอโทษในการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ไม่สบายใจ จึงขอยืนยันว่าไม่ได้มีความผิดขนาดนั้น เพราะเจตนาที่แท้จริงเป็นการขอความร่วมมือให้ประชาชนในพื้นที่ใช้แอปพลิเคชั่นหมอชนะ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนหากประชาชนไม่มีสมาร์ทโฟนไม่สามารถโหลดแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ”ได้นั้น ก็สามารถใช้กระบวนการแบบแอปพลิเคชั่นไทยชนะได้ในการจดบันทึกของตนเองด้วยมือได้
"ยืนยันที่แถลงศบค.ในเรื่องดังกล่าวเป็นการอ่านตามเอกสารที่ระบุในคำสั่ง แต่ความจริงไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น เพราะต้องการเพียงความร่วมมือกับประชาชนเท่านั้น"
นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยในเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ค่าแอร์ไทม์ในการใช้แอปพลิเคชั่น ปัญหาการแทร็กกิ้งที่จะติดตามเฉพาะคนที่ "อนุญาตให้ติดตามเฉพาะเมื่อเปิดใช้แอปเท่านั้น" จึงขอให้มีการสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจนในการติดตั้งและใช้แอปพลิเคชั่นหมอชนะอีกครั้ง
การทำหน้าที่ของ "โฆษก"
มีการท้วงติงการทำหน้าที่ของนายแพทย์ทวีศิลป์ ที่อาจจะต่างจากช่วงการระบาดระลอกแรก ที่ดูจะสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจอย่างตรงไปตรงมามากกว่ารอบนี้ สังเกตได้จากการเลี่ยงใช้คำเพราะอาจจะกังวลการเมืองมากไปหน่อย เช่น การระบุสีในพื้นที่ เช่น พื้นที่สีแดง สีส้ม ก็เลี่ยงไปใช้คำว่าควบคุม หรือ ควบคุมสูงสุดแทน ทั้งที่ประชาชนเข้าใจในการควบคุมการระบาด หรือการเอ่ยถึงบ่อนการพนัน ก็ไม่กล้ากล่าวตรงๆ
รวมทั้งมีการท้วงติงการทำงานของ ร้อยตำรวจเอก พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ที่สื่อมวลชนฝากศบค. สะท้อนปัญหา เพราะเมื่อนักข่าวถามข้อมูลในเชิงการแพทย์โฆษกกทม.มักจะตอบไม่ได้ จึงเสนอให้เมื่อโฆษกกทม.จะแถลง ให้เชิญ แพทย์จากสำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ ของกทม. มานั่งประกบและให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ รวมทั้งขอให้บูรณาการร่วมกับศบค.ด้วย
ซึ่งจุดนี้ "หมอทวีศิลป์" น้อมรับและชี้แจงด้วยว่า การทำงานของตัวเองยึกหลักสามข้อ คือ 1.true - ข้อเท็จจริง 2. transparency โปร่งใส 3. Timing เวลา พร้อมกับอธิบายว่า เมื่อครั้งการระบาดในครั้งที่แล้ว มีเคสที่สูงสุดคือวันที่มี 188 เคส ที่ต้องขอบคุณทีมระบาดวิทยาที่อดหลับอดนอน ทำงานดึกดื่นทุกวันเพื่ออัพเดทข้อมูล
"แต่ครั้งนี้ ข้อมูลมหาศาลจริงๆ ตู๊มแรกก็มาเลย 500 ราย เมื่อข้อเท็จจริงมีมาก ก็เลยทำให้ความโปร่งใสมีปัญหาจนทำให้หนักใจ เพราะข้อมูลจำนวนมากทำให้การรายงานที่ครบมีปัญหาด้วย ไม่ใช่ไม่อยากรายงานให้ครบ อย่างรอบแรกเกิดขึ้นในสนามมวย และผับทองหล่อเป็นแหล่งใหญ่ แต่ตอนนี้ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะแม้จะขอข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขแล้วก็ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ทำงานหนักเพราะข้อมูลเยอะจริงๆ เพราะในพื้นที่เองก็สาละวนกับการสอบสวนโรคจำนวนมาก"
ส่วนที่ว่ากลัวการพูดในเชิงการเมืองและการใช้ภาษานั้น หมอทวีศิลป์ ยืนยันว่า ตัวเองพูดในสิ่งที่สบายใจที่จะพูด สบายใจที่ได้ทำงานกับเลขาสมช. เพราะไม่มีใครมาสั่งให้ต้องพูดอย่างนั้นอย่างนี้ "นี่คือภาวะวิกฤติ แม้ประเทศที่ใหญ่เขาก็เจอยิ่งกว่านี้ ไม่ใช่ว่าไม่มีปัญหา"
การจัดการข้อมูลของรัฐบาลเอง
มีการพูดถึงกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงหักข้อมูลของประกาศกทม. ที่ห้ามรับประทานอาหารในร้านหลัง 19.00 น. แต่นายกฯให้ยกเลิกประกาศ ภาพออกมาเหมือน กทม.กับศบค. ไม่ได้คุยกัน และการแก้ปัญหาสามารถทำได้หลังไมค์ ด้วยการที่สื่อสารกันภายในไม่ต้องแถลงให้เกิดภาพความขัดแย้ง
รวมทั้งกรณี นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ศบค.ล็อกดาวน์ 5 จังหวัด แต่สุดท้ายต้องรอการชี้แจงในวันต่อไปทำให้เกิดความสับสนของข้อมูล แต่ไม่มีใครกล้าออกมาแก้ข่าวได้ทันท่วงนี้
และยังพูดถึงกรณีที่จังหวัดต่างๆ ให้ข่าวการพบผู้ติดเชื้อรายพื้นที่ของตัวเอง ทำให้มีข้อมูลมหาศาลตลอดทั้งวัน
ซึ่งตรงนี้มีการบอกกับ ศบค.ว่า อย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก และต้องบริหารจัดการข้อมูลให้เป็น single message เพราะส่งผลกับความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือของข้อมูล ที่ประชาชนจะสับสน
พร้อมกับเสนอว่า หากหมอทวีศิลป์แถลงคนเดียวไม่หมด ขอให้ถอยกลับไปใช้หลักการแถลงแบบศบค. รอบแรก คือ หมอแถลงสถานการณ์ หน่วยงานไหนเกี่ยวข้องกับเรื่องใด ให้มีตัวแทนมาแถลงเช่น เรื่องความมั่นคง มีสมช. สำนักงานตำรวจ มหาดไทย มาแถลง เรื่องแรงงาน มีกระทรวงแรงงานมาแถลง เรื่อง แอปพลิเคชั่น กระทรวงดีอีมาแถลง ไม่เช่นนั้น หมอทวีศิลป์จะแบกภาระอยู่คนเดียว
และก่อนจบการประชุมที่ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง เลขาสมช.ในฐานะประธานการประชุม แสดงความขอบคุณ และน้อมรับทุกคำแนะนำจากสื่อมวลชน และหลายเรื่องเป็นความจริงที่ต้องรีบแก้ไข หากสิ่งใดทำได้ทันทีก็จะทำ สิ่งใดที่ทำไม่ได้ก็จะพยายามทำให้ดี
และเมื่อเราจะปรับปรุงการสื่อสารอย่างไรก็จะแจ้งให้สื่อทราบ หรือ ให้ติดตามดูว่า ศบค.ได้ปรับการสื่อสารตามที่เสนอแนะมาแล้วหรือไม่
ที่มา เว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แอป "หมอชนะ" สรุปวิธีดาวน์โหลด ติดตั้ง วิธีใช้ เช็กที่นี่ครบจบ