12 มกราคม 2564 ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมากล่าวถึงการที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกประกาศยกเลิกการสอบวัดผล O-Net ว่า เป็นการยุติการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ครอบคลุม 8 กลุ่มสาระวิชา ส่งผลให้ขาดข้อมูลการเรียนรู้ของนักเรียนในการเอาไปเทียบกับมาตรฐานการศึกษาที่ทาง ศธ. กำหนด พร้อมตั้งคำถามต่อเหตุผลในการดำเนินการเช่นนี้ว่า กระทรวงศึกษาธิการและ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้นำประเด็นเรื่องคุณภาพในการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นตัวตั้งหรือไม่
“เหตุผลที่ทาง ศธ. ยกเลิกการสอบ O-Net ได้แก่ หนึ่ง ผลสอบที่ไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์อะไร นอกจาก ม.6 สามารถเอาไปประกอบการเรียนต่อแต่ก็สามารถสอบตรงได้ สอง ประโยชน์ที่ได้ จึงไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ และสาม ยังเป็นการเพิ่มภาระและความเครียดให้กับนักเรียนมากขึ้น เหตุผลตรงนี้สร้างความประหลาดใจกับผมมาก โดยเฉพาะต่อสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เป็นคนกำหนดมาตรฐานหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งไม่อยากรู้เลยหรืออย่างไรว่า กระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียนนั้นเป็นอย่างไร
ทำไมถึงทำให้เกิดผลคะแนนของ O-Net เช่นนี้ได้เพื่อที่จะมาประเมินมาตรฐานหลักสูตรที่กำหนดเอาไว้ว่า ตั้งค่าสูงเกินไป หรือไม่สอดคล้องกับการเรียนการสอนจริงในชั้นเรียนกันแน่ แต่น่าเสียดายที่ประเด็นคุณค่าและแก่นอันแท้จริงของการสอบ O-Net ไม่ได้รับการนำไปเป็นส่วนประกอบของการตัดสินใจสำหรับระดับนโยบาย และฝ่ายบริหารของ ศธ. ในการยกเลิกการสอบวัดผลที่เกิดขึ้น”
ทั้งนี้ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ยังได้แนะนำแนวทางสำหรับการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน ในกรณีที่ต้องการยกเลิกการสอบวัดผล O-Net ออกไปด้วยว่า ควรต้องสร้าง Formative Assessment ให้กลายเป็นหัวใจหลักในหลักสูตรการเรียนการสอนของนักเรียนให้สำเร็จก่อน ซึ่งตรงนี้ก็จะไปทำให้ครูผู้สอนมีศักยภาพในการประเมินประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้เกิดการวัดผลอันเหมาะสม
“เครื่องมือในการประเมินผลคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนนั้น นักการศึกษาที่มีประสบการณ์จะทราบดีว่า มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ 1. Summative Assessment หรือการประเมินสรุปผลลัพธ์รวบยอดของการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งเรารู้จักกันทั่วไปว่าเป็น “การสอบ” และ 2. Formative Assessment หรือการประเมินกระบวนการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความชำนาญด้านการสอนของครูที่มีความใส่ใจในคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การให้การบ้านและตรวจการบ้านเป็นประจำทุกวัน ครูก็จะได้เห็นพัฒนาการของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งความรู้ ความคิด และระบบการวิเคราะห์คำตอบต่างๆ ที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นต้น
ปัจจุบัน เรามีแค่การสอบ (Summative Assessment) เท่านั้น และผลลัพธ์ที่ตกต่ำของการสอบ O-Net สำหรับนักเรียนไทยก็คือ การขาด Formative Assessment อันจะยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนในชั้นเรียนได้ ดังนั้น ถ้าการประเมินผล คือ การหาผลลัพธ์มาทำการปรับปรุง หรือยกระดับให้พัฒนามากขึ้นกว่าเดิม หลักสูตรในการฝึกสอนและสร้างครูก็ควรต้องบรรจุ Formative Assessment เข้าไป รวมไปถึงการเสริมทักษะดังกล่าวให้แก่ครูที่อยู่ในระบบการเรียนการสอนตอนนี้ ให้เต็มศักยภาพสำหรับการสร้างการเรียนรู้ที่เปี่ยมคุณภาพแก่นักเรียนด้วย”
และชี้ว่า Teacher Education หรือ “การฝึกหัดครู” เพื่อนำไปสู่ Formative Assessment หรือการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบของนักเรียน ต้องเป็นงานหลักและงานสำคัญของ ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างคุณภาพทางการศึกษาในตอนนี้
“ศธ. ควรต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเข้มข้น และทำทันทีไม่มีรีรอ ไม่ใช่การยกเลิกการสอบ O-Net แบบขอไปที เพื่อที่จะหวังประนีประนอมทางการเมือง หรือลดกระแสความด้อยประสิทธิภาพและขาดความเข้าใจทางการศึกษาของระดับนโยบายที่ถูกนำมาพุ่งเป้าโจมตีอยู่บนแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา” ศ.ดร.กนก กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยกเลิกการสอบ O-NET ปีการศึกษา 2563
กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศนโยบาย ให้การ"สอบ O-NET" เป็นสิทธิ์ตามความสมัครใจ