นายคัทสึชิ นิชิกาวา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (Toyota Daihatsu Engineering & Manufacturing: TDEM) ซึ่งควบคุมหน่วยงานส่งเสริมระบบการผลิตแบบโตโยต้า และศูนย์โตโยต้าเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม กล่าวว่า TDEM ได้เปิดตัว “ศูนย์โตโยต้าเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม” (Toyota Social Support Center : TSSC) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ของ “ระบบการผลิตแบบโตโยต้า” (Toyota Production System: TPS) อันเป็นจุดแข็งหลักที่เป็นเอกลักษณ์ของโตโยต้าและได้รับการยอมรับทั่วโลก ให้กับหน่วยงานนและองค์กรต่างๆ เพื่อพัฒนาและยกระดับ
ระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System: TPS) เป็นหลักการพื้นฐานของ โตโยต้าที่ใช้ในการบริหารจัดการ เกิดขึ้นจากระบบควบคุมการผลิตขององค์กร ซึ่งมุ่งกำจัดความสูญเปล่า โดยมีเป้าหมายในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพให้ถึงมือลูกค้าได้อย่างรวดเร็วที่สุดตามคำสั่งซื้อ รากฐานของแนวคิดระบบ TPS มีต้นกำเนิดมาจากเครื่องทอผ้าแบบอัตโนมัติ ซึ่ง นายซากิจิ โตโยดะ บิดาของผู้ก่อตั้งบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ได้คิดค้นขึ้น นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ระบบนี้ก็มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง และยังนำไปประยุกต์ใช้กับงานในแขนงอื่นๆ นอกเหนือจากด้านการผลิตและการขนส่ง ปัจจุบันยังใช้ในส่วนงานการวางแผน การขาย และการบริหารจัดการงานต่างๆ อย่างกว้างขวาง
โตโยต้าเชื่อว่าระบบ TPS มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความสามารถขององค์กร เพื่อยกระดับศักยภาพด้านการแข่งขันอย่างไม่หยุดยั้งสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน โดยศูนย์ TSSC ยังมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรที่โตโยต้าเข้าไปช่วยเหลือ ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ของระบบ TPS เพื่อให้องค์กรนั้นๆ สามารถระบุและแสดงให้เห็นถึงปัญหา เพื่อการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่องได้ด้วยตนเอง อันเป็นแนวคิดหลักของระบบ TPS
นายคัทสึชิ กล่าวว่า โตโยต้าตั้งใจให้ศูนย์ TSSC ช่วยส่งเสริมมาตรฐานความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น ไม่เพียงมุ่งปรับปรุงกระบวนการเท่านั้น แต่ยังต้องการแบ่งปันองค์ความรู้ในการแสดงให้เห็นถึงปัญหา และแก้ไขปัญหาให้กับองค์กรที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตร ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนองค์กรนั้นๆ พร้อมไปกับการช่วยเหลือสังคมไปในเวลาเดียวกัน
สำหรับโครงการแรกที่ทางศูนย์โตโยต้าฯ ได้เข้าไปสนับสนุน คือ โรงพยาบาลบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีเป้าหมายลดระยะเวลารอคอยให้กับคนไข้บนพื้นฐานของแนวคิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างโรงพยาบาลบางบ่อ และศูนย์โตโยต้าเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบจัดยาตามใบสั่งของแพทย์ และตามหลักการ Just In Time หรือการส่งมอบแบบทันเวลาพอดี
ทั้งนี้ คณะทำงานได้วิเคราะห์และแยกแยะขั้นตอนการทำงาน ระบุขั้นตอนที่สามารถปรับปรุงได้ รวมถึงยังช่วยนำเสนอขั้นตอนการทำงาน ระบุส่วนงานที่จะต้องทำการปรับปรุงและทำให้การเคลื่อนไหวของบุคลากรง่ายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ ระยะเวลาเฉลี่ยที่คนไข้ต้องรอคอยเพื่อรับยาลดลงจาก 75 นาที เหลือเพียง 30 นาที (หรือเท่ากับประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น 60%) ช่วยลดเวลาที่คนไข้ต้องอยู่ในโรงพยาบาลและเพิ่มความอุ่นใจให้กับคนไข้ได้ในอีกทางหนึ่ง ปัจจุบันทางศูนย์โตโยต้าเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม ยังคงประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลบางบ่ออย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาและปรับปรุงขั้นตอนอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมุ่งลดระยะเวลาที่คนไข้ต้องอยู่ในโรงพยาบาล และเพื่อให้ทางโรงพยาบาลสามารถรักษาคนไข้ได้มากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ศูนย์โตโยต้าฯ ได้ต่อยอดขยายโครงการ ด้วยการร่วมมือกับสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ โดยเริ่มศึกษาระบบและขั้นตอนการทำงาน เพื่อพัฒนาปรับปรุงขั้นตอนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และอนาคตศูนย์โตโยต้าฯ ยังมีแผนส่งเสริมให้บุคลากรภายในบริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและเข้าใจหลักการของระบบ TPS เพื่อสนับสนุนและต่อยอดกิจกรรมเพื่อสังคมในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย