รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 22 มกราคม 2564...ตอนสายๆ จะทะลุ 98 ล้าน
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 757,932 คน รวมแล้วตอนนี้ 97,948,473 คน ตายเพิ่มอีก 16,145 คน ยอดตายรวม 2,095,787 คน
อเมริกา มียอดรวมเกิน 25 ล้านไปแล้ว เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 177,011 คน รวม 25,135,041 คน ตายเพิ่มอีก 3,844 คน ยอดตายรวม 418,772 คน
อินเดีย ติดเพิ่ม 14,788 คน รวม 10,625,420 คน
บราซิล ติดเพิ่มถึง 59,119 คน รวม 8,697,368 คน
รัสเซีย ติดเพิ่ม 21,887 คน รวม 3,655,839 คน
สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 37,892 คน รวม 3,543,646 คน
อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลายหมื่นต่อวัน
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อิสราเอล อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
เมียนมาร์ เกาหลีใต้ ไทย และจีน ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนฮ่องกง ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่กัมพูชา และเวียดนามติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ...สถานการณ์ในเมียนมาร์ เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 445 คน ตายเพิ่มอีก 16 คน ตอนนี้ยอดรวม 136,166 คน ตายไป 3,013 คน อัตราตายตอนนี้ 2.2%...
วิเคราะห์สถานการณ์ไทยเรา...
ถัดจากนี้ไปเราคงเจอการติดเชื้อไปได้เรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง กระจายแตกต่างกันไปในพื้นที่
คาดว่าพื้นที่ที่เคยระบาดหนัก จะยังคงมีโอกาสปะทุซ้ำได้มากกว่าที่อื่นๆ เนื่องจากไม่ได้ตรวจจนครบทุกคนจากข้อจำกัดเชิงวิธีการและทรัพยากร
รูปแบบการติดเชื้อจะมาได้ในทุกแบบ ตั้งแต่กลุ่มเสี่ยง กิจกรรม/กิจการเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง ยิ่งไปกว่านั้นในพื้นที่เขตเมืองและปริมณฑล มีแนวโน้มการติดเชื้อแพร่เชื้อระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกินการดื่ม การเดินทางคมนาคม การพบปะพูดคุย ปาร์ตี้สังสรรค์ ท่องเที่ยว หรือแม้แต่การอยู่อาศัยในครอบครัว
จะป้องกันหรือบรรเทาการระบาดได้ นอกจากต้องอาศัยหน่วยงานในพื้นที่แต่ละจังหวัดที่จะช่วยเฝ้าระวัง ติดตาม กำกับแล้ว
ธุรกิจห้างร้านทุกประเภทก็จำเป็นต้องขันน็อตการประกอบกิจการของตนเองให้เคร่งครัดตามมาตรการที่รัฐกำหนด ไม่ควรปล่อยปละละเลยหรือชะล่าใจ หากป้องกันกิจการตนเองได้ดี ลูกน้องเราก็จะไม่ติดเชื้อหรือแพร่เชื้อให้ลูกค้า หรือในทางกลับกันลูกค้าที่อาจติดเชื้ออยู่ก็จะแพร่มาให้ลูกน้องในกิจการเราได้ยาก คัดกรองให้ดีตามมาตรฐาน วัดไข้ ล้างมือ เช็คว่าใส่หน้ากากไหม และปรับกระบวนการในธุรกิจของเราให้ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อให้น้อยลง ลดการจับสัมผัส โดยไม่ควรเกรงใจลูกค้าไม่ว่าจะระดับใด เพราะความเกรงใจเพียงครั้งเดียว อาจก่อให้เกิดผลกระทบมหาศาลตามมา
สำหรับประชาชนทุกคนนั้น เราได้บทเรียนจากเคสติดเชื้อที่เห็นกันในช่วงที่ผ่านมาว่า ส่วนใหญ่การติดเชื้อมักเกิดจากการละเลย ประมาท ไม่ป้องกันตัวเองให้เต็มที่ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเคสที่ติดกันแม้แต่ในหมู่คนที่ใกล้ชิดไว้ใจ เช่น สมาชิกในครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย
นอกจากหลักการที่ทราบกันและเน้นย้ำกันทุกวันว่า ให้ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตรแล้ว
อยากจะสรุปให้ระวังกันอีกครั้งว่า ทุกคนมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้เสมอในสถานการณ์เช่นนี้ และความเสี่ยงที่จะติดเชื้อนั้นมักเกิดขึ้นใน 5 ลักษณะ ได้แก่
หนึ่ง ไปอยู่ในที่"แออัด" หรือแม้จะไม่แออัด แต่อยู่"ใกล้ชิด"กัน
สอง ไปอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง พบปะพูดคุยกันกับคนที่เสี่ยง ใน"ระยะเวลาที่นาน"
สาม ไปอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง สัมผัสกับผู้คน"บ่อย" หรือถี่
สี่ "มักคิดว่าไม่สบายเล็กน้อยคล้ายหวัดแต่ไม่ได้ไปตรวจรักษา" ปล่อยไว้นานหลายวัน จนแพร่ให้คนใกล้ชิด
และ ห้า "ไม่ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด" หน้ากาก-ล้างมือ-อยู่ห่างๆ
ดังนั้นเมื่อเราทราบเช่นนี้ การจะอยู่รอดปลอดภัยไปในระยะเวลาถัดจากนี้ ก็ควรปิดจุดอ่อนทั้งห้าข้อดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยอดโควิด 22 ม.ค.64 ทั่วโลกผู้ป่วยเพิ่ม 6.36 แสนราย รวม 98.03 ล้านราย
"โคราช" คลายล็อกนักท่องเที่ยวจาก "พื้นที่ควบคุมสูงสุด" พักระยะสั้นไม่ต้องกักตัว 14 วัน
"พระนครศรีอยุธยา" คลายล็อก "สปา-ร้านนวดแผนไทย-นวดฝ่าเท้า"