กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เดินหน้าดูแลชีวิตความเป็นอยู่ เยียวยากลุ่มเปราะบาง ทั้งการอำนวยความสะดวกในโครงการเราชนะ และเตรียมสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยไว้ เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง ผ่านกองทุนผู้สูงอายุและกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ผู้สูงอายุ
- สามารถขอกู้เพื่อประกอบอาชีพ
- รายละไม่เกิน 30,000 บาท
- 3 ปีแรกไม่คิดดอกเบี้ย
- ต้องมีผู้ค้ำประกัน
ผู้พิการ
- ขอกู้ฉุกเฉินเพื่อประกอบอาชีพ
- รายละไม่เกิน 10,000 บาท
- ไม่มีดอกเบี้ย
- ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน
นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยังจะมีการปล่อยสินเชื่อเงื่อนไขอื่นๆ ซึ่งประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่พัฒนาสังคมจังหวัด หรือโทรสายด่วน 1300
ส่วนการเข้าถึงสิทธิ์การลงทะเบียน “โครงการเราชนะ” ซึ่งรัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ในส่วนของกลุ่มเปราะบางนั้น นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่และประสานเครือข่ายอาสาสมัครร่วมลงพื้นที่ปูพรมระดับหมู่บ้านทำการประชาสัมพันธ์และอำนวยความสะดวกให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงสิทธิโครงการเราชนะ
นอกจาก 2 มาตรการข้างต้นแล้ว กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือรองรับกรณีไม่ได้รับสิทธิไว้ด้วย และเริ่มโครงการ “พม. รถปันสุข สู่ชุมชน” ซึ่งเป็นรถที่จะกระจายของใช้ที่จำเป็นสู่ชุมชนที่เดือดร้อนอย่างมากจากโควิด19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัดที่ ศบค. ได้กำหนดไว้ก่อนหน้า พร้อมไปกับรถปันสุข เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ทำการประเมินสภาพครอบครัวกลุ่มเปราะบาง
เพื่อให้คำแนะนำช่องทางการหารายได้และการช่วยเหลือด้านสวัสดิการตามภารกิจ ของกระทรวงฯ อาทิ เงินสงเคราะห์ เงินทุนประกอบอาชีพ
นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวว่า ด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ดำเนินโครงการ พม. Mobile “ปันสุข สู่ชุมชน” ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน พม. จะตามไปเยี่ยม เพื่อเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง อาทิ เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้บ้าน และผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น รวมทั้งผู้มีรายได้น้อย ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่
โดยเฉพาะใน 28 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ด้วยกิจกรรม Kick off ปล่อยขบวนรถ พม. Mobile นำเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น หน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ เข้าไปในชุมชนที่เป็นพื้นที่ปิดและมีความยากลำบากในการดำเนินชีวิต จำนวน 57 จุดบริการ
พร้อมทั้งการรับเรื่องร้องทุกข์ในชุมชน เพื่อให้การช่วยเหลือโดยตรงอย่างรวดเร็ว ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 4 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ พร้อมทั้งมีการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ในอีก 23 จังหวัด ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยทีม พม. One Home จังหวัด ซึ่งจะให้บริการจนถึงเดือนมีนาคม 2564
นางสาวสราญภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้ตระหนักถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะคนพิการ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูงที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงได้จัดกิจกรรม “ตู้ พก. ปันสุข” และ “ตู้ พก. รับทุกข์” แนวคิดในการระดมสิ่งของ เครื่องอุปโภค บริโภค เพื่อแบ่งปันใส่ตู้ช่วยเหลือ ผู้ที่เดือดร้อนและอยู่ในภาวะยากลำบาก กลุ่มเปราะบาง ผู้ประสบปัญหาทางสังคม และผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 ระลอกใหม่
สามารถหยิบไปบริโภคและใช้ประโยชน์ได้ ภายใต้นิยาม “หยิบไปแต่พอดี ถ้ามีให้แบ่งปัน” รวมไปถึงหน่วยงาน พก. ที่ตั้งอยู่ส่วนภูมิภาค (ต่างจังหวัด) ก็สามารถดำเนินการร่วมกับ สนง.พมจ. และทีม One Home เพื่อระดมสิ่งของ เครื่องอุปโภค บริโภค ที่มีความหลายในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม “ตู้ พก. รับทุกข์” เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ และช่วยบรรเทาด้านการดำรงชีวิตให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 รวมทั้งในด้านอื่นๆ ของประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อัพเดทล่าสุด "โครงการเราชนะ" ขั้นตอนลงทะเบียน-ใช้สิทธิ์เงินเยียวยา7000บาท อ่านได้ทีนี่
เช็กด่วน เยียวยากลุ่มเปราะบาง "ลงทะเบียนเราชนะ.com" พ่วงสิทธิ์สินเชื่อปลอดดอกเบี้ย
กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน ลงทะเบียน"เราชนะ"ผ่าน 3 แบงก์รัฐ เริ่ม15 ก.พ.นี้ ลุ้นรับสิทธิเยียวยา 7,000 บาท
"เราชนะ"เตือนอย่าลืมโหลด“เป๋าตัง”ยืนยันตัวตนหากลงทะเบียน www.เราชนะ.com สำเร็จ
ประกันสังคมมาตรา33 เฮ รัฐเล็งเยียวยาเหมือน "เราชนะ" คาดคนละ 4 พันบาท