ว้าว ครม.เคาะ "ใส่ชื่อตัวเอง" ตัวอักษร-สระ-วรรณยุกต์ บนป้ายทะเบียนรถได้

02 ก.พ. 2564 | 08:53 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2564 | 22:57 น.

รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.อนุมัติหลักการแก้กฎกระทรวงให้ ใส่ชื่อตัวเอง บนแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ระบุให้ มีตัวอักษรผสมสระ และ วรรณยุกต์ ได้

วันที่ 2 ก.พ. 64 น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติหลักการ ใส่ชื่อ ตัวอักษร สระ วรรณยุกต์ บนป้ายทะเบียนรถได้ หรือ ร่างกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถและการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี (ฉบับที่..) พ.ศ. ....หรือ กำหนดแผ่นป้ายทะเบียนรูปแบบพิเศษ

 

รองโฆษกฯ กล่าวว่า สาระสำคัญ มีดังนี้

 

- เป็นการกำหนดให้ลักษณะของแผ่นป้ายทะเบียนสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน

 

- มีตัวอักษรมากกว่า 2 ตัว

 

- หรือตัวอักษรผสมสระ

 

- หรือ วรรณยุกต์  

 

- หรือตัวเลขได้

น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

เพื่อนำลักษณะแผ่นป้ายดังกล่าวและหมายเลขทะเบียนซึ่งเป็นที่นิยมหรือเป็นที่ต้องการของประชาชนออกเปิดประมูลเป็นการทั่วไป เพื่อนำรายได้เข้ากองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน

 

ทั้งนี้ในปัจจุบันได้มีการกำหนดลักษณะของแผ่นป้ายทะเบียนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล จะแบ่งออกเป็น 2 บรรทัด บรรทัดที่ 1 ประกอบด้วยตัวอักษรประจำหมวดตัวที่ 1 ตัวอักษรประจำหมวดตัวที่ 2 และหมายเลขทะเบียนไม่เกิน4หลัก บรรทัดที่ 2 เป็นตัวอักษรแสดงชื่อจังหวัด

 

"อย่างเช่นชื่อไตรศุลี ก็สามารถใส่เป็น ไตรศุลี 1 ศรีสะเกษ ได้" นางสาวไตรศุลี กล่าวยกตัวอย่าง

ว้าว ครม.เคาะ \"ใส่ชื่อตัวเอง\" ตัวอักษร-สระ-วรรณยุกต์ บนป้ายทะเบียนรถได้

ด้าน นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก อธิบายเพิ่มเติมว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนและการแสดงป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของแผ่นป้ายทะเบียนสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน

 

ในกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถฯ พ.ศ.2554  โดยกำหนดแผ่นป้ายทะเบียนรูปแบบพิเศษ ให้มีตัวอักษรมากกว่า 2 ตัว หรือตัวอักษรผสมสระหรือวรรณยุกต์หรือตัวเลขได้  สำหรับนำแผ่นป้ายทะเบียนและหมายเลขป้ายทะเบียนดังกล่าวออกเปิดประมูล เพื่อนำรายได้เข้ากองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน แต่ยังคงประโยชน์ในการควบคุมทางทะเบียนและการตรวจสอบทางกฎหมาย โดยมีสาระสำคัญดังนี้

 

1.แผ่นป้ายแบ่งออกเป็นสองบรรทัด บรรทัดที่หนึ่ง ประกอบด้วยตัวอักษรประจำหมวดตัวที่หนึ่ง ตัวอักษรประจำหมวดตัวที่สอง และหมายเลขทะเบียนไม่เกินสี่หลัก บรรทัดที่สอง เป็นตัวอักษรแสดงชื่อกรุงเทพฯหรือจังหวัดที่จดทะเบียน เว้นแต่กรณีจดทะเบียนที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ให้ใช้คำว่า เบตง ทั้งนี้ ตัวอักษรให้ใช้ตัวอักษรไทยหมายเลขทะเบียนให้ใช้ตัวเลขอารบิค และทั้งตัวเลขและตัวอักษรให้อัดเป็นรอยดุน

 

2.กำหนดเพิ่มเติมให้แผ่นป้ายทะเบียนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน โดยบรรทัดที่หนึ่ง อาจประกอบด้วยตัวอักษรมากกว่า 2 ตัว หรือตัวอักษรผสมสระหรือวรรณยุกต์หรือตัวเลขก็ได้ และตามด้วยหมายเลขทะเบียนไม่เกินหนึ่งหลัก ทั้งนี้ การกำหนดตัวอักษรมากกว่าสองตัว หรือตัวอักษรผสมสระหรือวรรณยุกต์หรือตัวเลข ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด

 

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ให้กรมการขนส่งทางบกรับข้อสังเกตของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปดำเนินการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับลักษณะของแผ่นป้ายทะเบียนรูปแบบพิเศษนี้ให้กับหน่วยงานต่างๆ ได้รับทราบโดยเฉพาะหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายด้านการจราจร เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมทางหลวง พร้อมทั้งจัดให้มีการทดลองใช้ป้ายทะเบียนดังกล่าวกับระบบอ่านป้ายทะเบียนอัตโนมัติ (License Plate Recognition: LPR) และระบบเทคโนโลยีการตรวจสอบอื่นๆ ด้วย โดยลำดับต่อไป จะส่งร่างกฎกระทรวงให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เงื่อนไข "ใส่ชื่อตัวเอง" บนป้ายทะเบียนรถ เริ่มเมื่อไร-ต้องทำยังไง เช็กได้ที่นี่ 

ใส่ชื้อป้ายทะเบียนรถ รอประกาศรายละเอียด | EXCLUSIVE IN BRIEF | Than Talk | 3-02-64