ทำความรู้จัก ร่างพ.ร.บ.การปรับเป็นพินัย คืออะไร 

02 ก.พ. 2564 | 22:10 น.

เปิดร่างพ.ร.บ.การปรับเป็นพินัย คืออะไร คดีแบบไหน-ความผิดลักษณะใด เข้าเงื่อนไขเปลี่ยนโทษอาญาความผิดเล็กน้อยเป็นโทษปรับทางพินัยได้บ้าง

ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ... นับเป็นร่างกฎหมายอีกฉบับที่รัฐบาลเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อดำเนินการ ตามหมวดการปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77 ที่กำหนดให้รัฐพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง และตามแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายเอาไว้โดยรัฐบาลต้องจัดทำกฎหมายเปลี่ยนแปลงโทษอาญาที่สามารถเปรียบเทียบเพื่อให้คดียุติได้ให้เป็นโทษปรับทางปกครอง

 

ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ...ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า เพื่อเป็นกฎหมายกลางในการพิจารณาและกำหนดมาตรการสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง

 

 

 

เรียกมาตรการใหม่นี้ว่า “การปรับเป็นพินัย” โดยผู้กระทำความผิดต้องชำระเงินค่าปรับตามที่กำหนดซึ่งการปรับดังกล่าวไม่ใช่เป็นโทษปรับทางอาญา รวมถึงไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนการปรับ และไม่มีการบันทึกลงในประวัติอาชญากรรม

 

ตัวอย่างความผิดเล็กน้อยที่เป็นโทษอาญา อาทิ ไม่แสดงใบขับขี่ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท สูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท และการจอดรถขายผลไม้ริมถนนสาธารณะ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000บาท เป็นต้น  

 

 

สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ มีดังนี้

 

1. กำหนดบทนิยามคำว่า “ปรับเป็นพินัย” หมายความว่า สั่งให้ผู้กระทำความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินที่กฎหมายกำหนด

 

2. กำหนดบทนิยามคำว่า “ความผิดทางพินัย” หมายความว่า การกระทำหรืองดเว้นกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎหมายนั้นบัญญัติให้ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย

 

3.ค่าปรับเป็นพินัย คือ เงินค่าปรับที่ต้องชำระให้แก่รัฐ ซึ่งเป็นมาตรการทางกฎหมายที่จะนำมาใช้แทนโทษทางอาญาสำหรับผู้กระทำความผิดไม่ร้ายแรงและโดยสภาพไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม อันดีของประชาชนอย่างร้ายแรงหรือไม่กระทบต่อส่วนรวมอย่างกว้างขวาง

 

4.กำหนดให้ความผิดทางพินัยมีการชำระค่าปรับเป็นพินัยตามจำนวนเงินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาลกำหนดเท่านั้น ไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนค่าปรับ ตลอดจนไม่มีการบันทึกลงในประวัติอาชญากรรม ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องและได้สัดส่วนกับการกระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรง

 

5.กำหนดหลักการพิจารณาความผิดทางพินัย โดยกำหนดให้นำบทบัญญัติในภาค 1 บทบัญญัติทั่วไป ลักษณะ 1 บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป เฉพาะหมวด 2 การใช้กฎหมายอาญา หมวด 4 ความรับผิดในทางอาญา หมวด 5 การพยายามกระทำความผิด และหมวด 6 ตัวการและผู้สนับสนุนแห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับแก่การปรับเป็นพินัยโดยอนุโลม

6.กำหนดหลักการพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพความผิดและกำหนดค่าปรับให้เหมาะสมกับฐานะของผู้กระทำความผิด โดยพิจารณาจากระดับความรุนแรงของผลกระทบต่อชุมชนหรือสังคม ผลประโยชน์ที่ผู้กระทำความผิดหรือบุคคลอื่นได้รับจากการกระทำผิดทางพินัย และสถานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิดโดยจะให้ผ่อนชำระเป็นรายงวดก็ได้

 

7.กำหนดให้ศาลสั่งให้ผู้กระทำความผิดทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับได้ในกรณีผู้กระทำความผิดไม่อยู่ในฐานะที่จะชำระค่าปรับได้

 

8.กรณีที่ผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดเพราะเหตุแห่งความยากจนหรือเพราะความจำเป็น ศาลจะกำหนดค่าปรับเป็นพินัยต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดหรือจะว่ากล่าวตักเตือนโดยไม่ปรับเป็นพินัยเลยก็ได้

 

9.กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งได้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย รวมทั้งมีหน้าที่และอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด แต่มิได้กำหนดให้มีอำนาจจับกุมหรือควบคุมตัวผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด และเมื่อมีการชำระค่าปรับเป็นพินัยภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้วให้ความผิดทางพินัยเป็นอันยุติ

 

10.ในกรณีที่ไม่มีการชำระค่าปรับเป็นพินัยภายในระยะเวลาที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ สรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พยานหลักฐาน และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลต่อไป

 

11.กำหนดให้ศาลจังหวัดเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดทางพินัย และกำหนดให้วิธีพิจารณาคดีเป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา รวมทั้งกำหนดให้ผู้กระทำความผิดมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้นและคำพิพากษาของศาลชั้นอุทธรณ์ถือเป็นที่สุด

 

12.กำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งการเสนอแนะการออกกฎกระทรวงและระเบียบ

 

13.กำหนดบทบัญญัติการเปลี่ยนโทษปรับทางปกครองและโทษอาญาเป็นการปรับเป็นพินัย ดังนี้

 

13.1 การเปลี่ยนโทษทางปกครองเป็นโทษปรับเป็นพินัย กำหนดให้เปลี่ยนโทษปรับ ทางปกครองตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นความผิดทางพินัยทั้งหมด แต่ไม่รวมถึงโทษปรับทางปกครองที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และการปรับที่เป็นมาตรการในการบังคับทางปกครอง

 

13.2 การเปลี่ยนโทษทางอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว แบ่งออกเป็น

 

-กฎหมายที่ให้เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยเมื่อพ้นกำหนด 365 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

-ในกรณีที่กฎหมายที่หน่วยงานยังไม่พร้อมให้เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยนั้นได้กำหนดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยเมื่อหน่วยงานนั้นมีความพร้อม

 

ประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อกฎหมายบังคับใช้

 

1.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยใช้ความผิดอาญาเฉพาะการกระทำความผิดที่ร้ายแรงเท่านั้น เพื่อป้องกันการริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินควร

 

2.สร้างความเป็นธรรมในสังคมและลดการทุจริต โดยเปลี่ยนความผิดร้ายแรงเป็นโทษปรับทางพินัย อย่างไรก็ดี มีกฎหมายอย่างน้อย 183 ฉบับที่จะถูกเปลี่ยนเป็นโทษทางพินัย

 

3.ไม่มีการกักขังแทนค่าปรับ ไม่ต้องประกันตัว และไม่มีการบันทึกประวัติอาชญากรรม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม.ปฏิรูปกฎหมาย เปลี่ยนโทษอาญาความผิดเล็กน้อย เป็นโทษ “ปรับทางพินัย”

ครม. เลื่อนแข่งขัน “โมโต จีพี” ออกไปอีก 1 ปี

ว้าว ครม.เคาะ "ใส่ชื่อตัวเอง" ตัวอักษร-สระ-วรรณยุกต์ บนป้ายทะเบียนรถได้

ครม.อนุมัติจ่ายชดเชยเกษตรกรทำลายสุกร 279 ล้านบาท

ครม.เคาะปรับเกณฑ์เราชนะ "รถเร่ขายของ-สามล้อถีบ" ลงทะเบียนร่วมโครงการได้