นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ออกแบบกลยุทธ์เฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร ใช้หลักการจัดการโควิด-19 ในโรงงานอย่างมีส่วนร่วม(Bubble and Seal) เพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้หลุดออกมาสู่สังคมภายนอก เน้นในโรงงานขนาดใหญ่ มีพนักงานมากกว่า 500 คน เป้าหมายลดความเสี่ยงในที่ทำงานและที่อยู่อาศัย และลดความเสี่ยงของกลุ่มพนักงาน พบมี 7 โรงงานที่เข้าเกณฑ์ที่จะดำเนินการตามหลักการ Bubble and Seal มีพนักงานรวม 50,083 คน
ขณะนี้ 3 โรงงานเริ่มดำเนินการแล้ว ส่วนอีก 4 โรงงานเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งไม่มีที่พักให้กับพนักงาน จะประสานหาแนวทางและปรับรูปแบบที่เหมาะสมให้สามารถควบคุมโรคได้ ส่วนในโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก ยังคงใช้หลักการตรวจหาเชื้อเชิงรุก โดยเมื่อพบผู้ติดเชื้อจะนำออกมารักษาตามระบบ ส่วนผู้ไม่ติดเชื้อให้ทำงานต่อได้
หลักการจัดการโควิด-19 ในโรงงานอย่างมีส่วนร่วม(Bubble and Seal) มีดังนี้
Seal ใช้กับโรงงานที่พนักงานสามารถพักในโรงงานได้ เอื้อต่อการใช้มาตรการ คาดว่า ใช้เวลา 28 วัน จะสามารถควบคุมโรคได้
Bubble ใช้กับโรงงานที่พนักงานพักอยู่นอกโรงงาน จะมีการควบคุมโรคที่ยากกว่า โดยขอความร่วมมือเจ้าของโรงงาน นำพนักงานมาอยู่ในโรงงานให้มากขึ้น หรือจัดหาที่พักพนักงานให้อยู่ในสถานที่ที่กำหนด ควบคุมได้ เช่น หอพัก พร้อมให้โรงงานเข้มมาตรการป้องกันโรค นอกจากนี้ ได้ประสานฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคงเข้าร่วมควบคุมพื้นที่ตามแผน
ส่วนเรื่องการปิดโรงงานจะดำเนินการเป็นวิธีสุดท้าย นอกจากพบว่า เป็นแหล่งเพาะเชื้อและไม่สามารถควบคุมโรคได้ จะประสานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพื่อออกคำสั่งต่อไป
ศูนย์ข้อมูล COVID-19 สมุทรสาคร รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด -19 ในสมุทรสาคร ณ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 24.00 น. ว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-18 รายใหม่จำนวน 777 ราย จำนวนนี้เป็นการค้นหาเชิงรุก 759 ราย และเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล 18 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 12,907 ราย หายป่วย/จำหน่ายแล้ว 6,267 ราย เสียชีวิตสะสม 5 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กทม.ออกประกาศสั่งปิดสถานที่เพิ่ม 2 แห่ง มีผลวันนี้
ยอดโควิด 3 ก.พ.64 ทั่วโลกผู้ป่วยเพิ่ม 4.30 แสนราย รวม 104.36 ล้านราย