NSL FOODS พัฒนานวัตกรรมอาหาร บาลานซ์พอร์ต เพื่อโตต่อ 

06 ก.พ. 2564 | 05:30 น.

ซีอีโอ โฟกัส ฉบับนี้ เป็นผู้นำที่เริ่มธุรกิจจากการ ทำอาหารแช่แข็ง จนได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับบิ๊กแบรนด์ร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น ลองผิดลองถูกอยู่สักระยะ จนในที่สุด “สมชาย อัศวปิยานนท์” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ก็แจ็คพ็อต ด้วยความเชี่ยวชาญด้านอาหารแช่แข็ง และนวัตกรรมอาหารที่ยึดมั่นว่า “ต้องทำอาหารที่ถูกปาก มีคุณค่าครบ และปลอดภัย” พัฒนาจนกลายเป็น “แซนวิชอบร้อน” สินค้าเบอร์ต้นๆ ของเซเว่น อีเลฟเว่น ที่ทำยอดการผลิตถึง 3 แสนชิ้นต่อวัน

“สมชาย” เล่าว่า เริ่มต้นธุรกิจอาหารแช่แข็ง ภายใต้ชื่อบริษัท โดเมคเกอร์ จำกัด หลังจากนั้น ก็เริ่มทำธุรกิจกับ เซเว่น อีเลฟเว่น เมื่อกว่า 20 ปีก่อน ด้วยอาหารกล่องแช่แข็ง อีซี่โก ภายใต้บริษัท นาราย อินเตอร์ ฟู้ด จำกัด หลังจากนั้นก็ขายบริษัทไป และเริ่มทำธุรกิจต่อเนื่อง ในนาม NSL FOODS ที่ทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ก็ซัพพลายให้กับ คอนวีเนียนสโตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แฟมิลี่มาร์ท ท็อปส์ เทสโก้ โลตัส จนกระทั่งได้มาทำสัญญาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กับเซเว่น อีเลฟเว่น เป็นเอ็กคลูซีฟ ที่นอกเหนือจากกลุ่ม แซนวิชอบร้อนแล้ว ยังมีเบเกอรี่รวม 40 รายการ

 

สมชาย อัศวปิยานนท์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน)

การได้ร่วมมือกับพันธมิตรรายใหญ่อย่างเซเว่น อีเลฟเว่น ทำให้บริษัทเติบโตมาเรื่อยๆ จนขยายไปสู่กลุ่ม สแน็กฟู้ด ขนมคบเคี้ยว และปีที่แล้ว เริ่มขยายไปยังกลุ่มฟู้ดส์เซอร์วิส ทำสินค้าพวกปลา ปลาหมึก ซีฟู้ดส์ เพื่อซัพพลายให้กับโรงแรม เชนร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และปีนี้จะเป็นปีที่เอ็นเอสแอลฟู้ดส์ เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังเตรียมการมาราว 3 ปี

 

“สมชาย” ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร เขามีทีมวิจัยและพัฒนากว่า 30 คน มีทั้งแลป และโรงงานอีก 3 แห่ง ที่คอยค้นคิดและพัฒนาอาหารรูปแบบใหม่ๆ ออกมาต่อเนื่อง เป็นสินค้าที่หมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนในเซเว่น อีเลฟเว่น รวมไปถึงการขยายตลาด สร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ

จากเป้าหมายการขยายธุรกิจให้เติบใหญ่ด้วยการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ต้องมีการจัดระเบียบและกระบวนการทำงานให้มีความชัดเจนและโปร่งใส ประกอบการกับผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ทำให้การทำงานต้องเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ทั้งการให้ความรู้ การเช็คสุขภาพ การลดของเสีย ลดต้นทุน ทำให้แผนกต่างๆ ทำงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งถือเป็นเรื่องดีในมุมการบริหาร สามารถอุดช่องโหว่ และเพิ่มศักยภาพการทำงานได้เต็มที่มากยิ่งขึ้น และเมื่อฐานรากระบบหลังบ้านดี ก็ทำให้องค์กรสามารถพัฒนาเดินหน้าต่อได้ง่ายขึ้น

“วิชั่นของเรา คือการเข้าสู่ฟู้ดส์ทุกๆ กลุ่ม เราจะเข้าสู่ตลาดอาหารแช่แข็ง เพราะเป็นตลาดใหญ่ โดยพุ่งเป้าไปที่ตลาดฟู้ดส์เซอร์วิส เช่น ร้านอาหาร ภัตตาคาร ทำเป็น Ready to Cook, Ready to eat เช่น ทำเป็นซอสสปาเก็ตติ้สำเร็จรูปเป็นแพ็ค 1-2 กิโล ส่งร้านอาหารที่สามารถนำไปอุ่นแล้วเสิร์ฟกับสปาเก็ตตี้ของเขาได้เลย”

ตอนนี้ ไลน์ของฟู้ดส์เซอร์วิส พวก ซีฟู้ด เนื้อวัว ส่งเรสเตอร์รองเชน ซึ่งเริ่มไปปลายปีที่แล้ว และเริ่มทำยอดขายที่ดี หลังจากก่อนหน้านั้น ได้ขยายตลาดสู่กลุ่มสแน็กฟู้ดส์ เป็นพริกอบกรอบ ที่ทำตลาดได้ดีในต่างประเทศ และกำลังพัฒนาสินค้าใหม่ๆต่อเนื่อง อาทิ โปรตีนจากจิ้งหรีด กำลังพัฒนา และจะออกภายในปีนี้ วางขายในไทย และจะส่งไปทำตลาดต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น โดยการโคแบรนด์กับผู้ผลิตจิ้งหรีด เป็นนักลงทุนเยอรมัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นำศักยภาพไมโครซอฟท์ Empower สร้างอิมแพ็คประเทศไทย

“ความคล่องตัว” คีย์สำคัญ ผลักดัน "อนันดา" ฟื้นตัวและอยู่รอด

ทรานสฟอร์มองค์กร ต้องเริ่มที่ CEO

เจาะไอเดีย ฝ่าวิกฤติโควิด19 ผู้นำ Booking.com

Locanation' ชวน State Quarantine ...กักตัวยังไง ไม่ให้เซ็ง

อีกหนึ่งกลุ่มที่น่าสนใจ คือกลุ่ม Retort Pouch อาหารอุณหภูมิปกติ ที่สามารถฉีกซองแล้วกินได้เลยเป้าหมายคือการจับกลุ่มเด็ก และผู้สูงอายุ ที่ต้องการคุณค่าอาหารครบในแต่ละมื้อ

NSL FOODS พัฒนานวัตกรรมอาหาร บาลานซ์พอร์ต เพื่อโตต่อ 

 

“เวลาเรามองตลาด เรามองช่องว่าง อย่าง ช่องทางที่เราทำ เจ้าใหญ่เขาก็ไม่ได้มาเล่น เพราะการพัฒนา เป็นการพัฒนาให้ลูกค้าเฉพาะ บางตัววอลุ่มน้อย บางตัววอลุ่มใหญ่ เราทำหมด ทั้งเพราะเรามองว่า เมื่อวันหนึ่งเขาใหญ่ เราก็อยู่ในใจเขา”

“สมชาย” บอกเคล็ดลับการบริหารธุรกิจ NSL FOODS ให้เติบโตว่า เขาให้ความสำคัญกับบุคลากร ดูแลให้บุคลากรมีความสุข ท้องต้องอิ่ม ใส่ใจกันแบบพี่น้อง ส่วนพาร์ทเนอร์ธุรกิจ ก็ต้องทำงานกันด้วยความเข้าใจ ต้องรู้ความต้องการของเขา และตอบสนองให้ได้ อีกส่วนที่ขาดไม่ได้คือ การควบคุมคุณภาพสินค้า ดูแลการผลิตให้มีประสิทธิภาพเมื่อทำทุกอย่างควบคู่ไปด้วยกัน นั่นคือคีย์ซัคเซสที่ทำให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดอย่างยั่งยืน

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 40 หน้า 24 ฉบับที่ 3,650 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564