วันที่ 9 ก.พ. 64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการของการปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียนเพิ่มอีก 5% เป็นอัตรา 21 บาท/คน/วัน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
สำหรับโครงการอาหารกลางวันของนักเรียน ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งมีจำนวนโรงเรียน 49,861 โรงเรียน และจำนวนนักเรียน 5,894,420 คน งบประมาณทั้งสิ้น 25,436,304,000 ล้านบาท ซึ่งจะแบ่งอุดหนุนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 23,561,921,200 ล้านบาท และจัดสรรให้สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับนักเรียนเอกชนอีก 1,874,382,800 บาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ค่าอาหารกลางวันของนักเรียนครั้งนี้ ปรับเพิ่มเฉลี่ย 5% เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่าย และค่าวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่มีราคาสูงขึ้น และคำนึงถึงปริมาณและคุณค่าทางโภชนาการในการประกอบอาหารกลางวันให้แก่นักเรียน
ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียนอัตราใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม นี้ และจะทันต่อการเปิดเทอมครั้งที่ 2 ในปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน นี้ด้วย
ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบมติครม.ย้อนหลัง พบว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการการปรับอัตราค่าอาหารกลางวันของนักเรียน โดยกระทรวงศึกษาธิการขอปรับเพิ่มการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำหรับโครงการอาหารกลางวันของนักเรียน จาก อัตรา 20 บาท/คน/วัน เป็น อัตราที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในอัตราตั้งแต่ 24-36บาท/คน/วัน
โดยครั้งนั้นค่าอาหารกลางวันที่เสนอเพิ่มขึ้นของนักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1-ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 27,109 โรงเรียน นักเรียนจำนวน 4,981,953 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2562) ตามจำนวนนักเรียนและขนาดโรงเรียน ระยะเวลา200 วัน รวมงบประมาณที่ต้องใช้ในการดำเนินโครงการฯ ทั้งสิ้น 24,182.793 ล้านบาท (เฉพาะปีงบประมาณ พ.ศ. 2564)
เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2551 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนตามโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา จากเดิมอุดหนุนในอัตราคนละ 10 บาทต่อวัน เป็นอัตราคนละ 13 บาทต่อวัน ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้กระทรวงศึกษาธิการประสานขอความร่วมมือจากคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อนำรายได้ของ อปท. มาสมทบค่าอาหารกลางวันที่เพิ่มขึ้นในโอกาสแรกก่อน และให้ทบทวนและตรวจสอบจำนวนเด็กนักเรียนที่ได้รับการจัดสรรค่าอาหารกลางวันในปัจจุบันอีกครั้ง
หากจำเป็นก็ให้พิจารณาเสนอของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งควรส่งเสริมให้โรงเรียนนำเงินทุนหมุนเวียนจากสำนักงานโครงการอาหารกลางวัน กระทรวงศึกษาธิการ มาดำเนินงาน โดยส่งเสริมให้นักเรียนทำการเกษตร เช่น ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ฯลฯ ในโรงเรียนแล้วนำผลผลิตทางเกษตรมาสมทบกับค่าอาหารกลางวัน ตามข้อสังเกตของสำนักงบประมาณ
ทั้งนี้ การจัดอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนดังกล่าวให้พิจารณาดำเนินการให้ถูกหลักโภชนาการตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้นักเรียนได้รับอาหารที่เหมาะสมเพียงพอทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครม.ไฟเขียว “เงินช่วยชาวนา-ต่อประกันรายได้ปาล์ม” ปี2 (มีคลิป)
ครม.เห็นชอบ "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" ส่วนต่อขยายเลี้ยวเข้าเมืองทองธานี
ครม.อนุมัติ “มอเตอร์เวย์บ้านแพ้ว” 1.9หมื่นล้าน แก้รถติดพระราม 2
ข่าวดี! ครม.ชะลอเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซ้ำซ้อน ยัน ไม่เอาผิด