กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ องค์กรที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ช่วยคัดกรอง และให้ความรู้กับคนไทย "รู้เท่าทันสื่อ" โดยไม่ถูกครอบงำจากการมอมเมา หรือรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน ในขณะเดียวกัน ก็ช่วยพัฒนาและส่งเสริมผู้ผลิตสื่อที่มีศักยภาพ และมีความคิดสร้างสรรค์ ได้ผลิตผลงานคุณภาพที่มีประโยชน์ต่อสังคม ผ่านการจัดสรรทุน เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการผลิตและเผยแพร่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อสังคม
ดร. ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การจัดสรรให้ทุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2560 ด้วยวงเงิน 100 ล้านบาท มีผู้ผลิตเข้าร่วม 50 โครงการ และในปี 2564 ได้จัดสรรวงเงินงบประมาณ 300 ล้านบาท เปิดให้ยื่นข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอรับทุนสนับสนุน ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.–19 ก.พ. 2564 เวลา 16.30 น. โดยแบ่งเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. โครงการประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) วงเงินไม่เกิน 90 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มเด็กและเยาวชน 30 ล้านบาท กลุ่มผู้สูงอายุ 20 ล้านบาท กลุ่มคนพิการและผู้ด้อยโอกาส 20 ล้านบาท กลุ่มประชาชนทั่วไป 20 ล้านบาท
2. โครงการประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) วงเงินไม่เกิน 180 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการหรือกิจกรรมขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการผลิตภาพยนตร์เสริมสร้างความ รักชาติ 30 ล้านบาท
โครงการหรือกิจกรรมขนาดกลาง จำนวน 100 ล้านบาท แบ่งเป็น การเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมือง, การสร้างเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว, การสร้างจิตสำนึกผ่านการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทย, การสร้างความสามัคคีของคนในชาติ ประเด็นละ 25 ล้านบาท
โครงการหรือกิจกรรมขนาดเล็ก วงเงิน 50 ล้านบาท แบ่งประเด็นละ 10 ล้านบาท ประกอบด้วย การทำนุบำรุงสถาบันหลักของชาติ, การสร้างสื่อเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม, วัฒนธรรมกับการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ, การสร้างสื่อเพื่อเชิดชูบุคคลที่ทำความดี และโทษและความเสี่ยงของสื่อออนไลน์
3. โครงการประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) วงเงินไม่เกิน 30 ล้านบาท
โครงการหรือกิจกรรมสำหรับผู้ขอรับการสนับสนุนที่เป็นภาคีเครือข่าย หรือผู้ผลิตสื่อที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งมีประสบการณ์หรือผลงานอันเป็นที่ประจักษ์และมีวัตถุประสงค์โครงการหรือ กิจกรรมสอดคล้องกับภารกิจของคณะอนุกรรมการตามมาตรา 21 (13)
ดร. ธนกร เล่าว่า การจัดสรรทุน โครงการประเภทเชิงยุทธศาสตร์ จะต่างกันกันที่ปัจจัยแวดล้อมทางสังคมของแต่ละปี ที่จะถูกนำมาเป็นประเด็นในการสร้างสรรค์โครงการ เช่น ปีที่แล้วจะเป็นประเด็นของ Fake News และการรังแก กลั่นแกล้งผู้อื่น (Bully) ในโลกออนไลน์ สำหรับปีนี้ จะเป็นประเด็น เรื่องความรักชาติ การสร้างความสามัคคี เสริมสร้างความผูกพันในครอบครัว เป็นต้น
‘การจัดสรรให้ทุนต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ถือว่ากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ประสบความสำเร็จมากขึ้น คนเริ่มรู้จักและรับรู้องค์กรมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งมาจากการจัดกิจกรรมที่เดินสายพบปะประชาชน และผู้มีส่วนได้เสีย โดยปีที่แล้วก่อนจะเปิดให้มีการรับขอจัดสรรทุนในปีนี้ ก็ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น แนวทางและหลักเกณฑ์การจัดสรรทุน สำหรับปีงบประมาณ 2564 “TMF Public Hearing : Grants for Change 2021” ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชนที่ต้องการเสนอโครงการหรือกิจกรรม ได้มีส่วนร่วมสะท้อนความต้องการและให้ข้อคิดเห็นต่อกองทุน ในการประกาศเปิดรับข้อเสนอ โครงการหรือกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2564’ ดร.ธนกร กล่าว
สำหรับในปีนี้ นอกจากการจัดสรรทุนแล้ว ทางสำนักงานกองทุน ยังได้ผลิตรายการ’เล่าสื่อกันฟัง’เพื่อเป็นเวทีในการขยายผลงาน ของผู้ที่เคยได้รับทุน อีกทั้งเป็นการแสดงผลงานที่มีคุณค่าและเป็นวิทยาทานสำหรับสังคมและผู้สนใจที่จะขอรับการจัดสรรทุนในโอกาสต่อไปด้วย โดยออกอากาศทางทีวีดาวเทียม ช่องสาระดี PSI 99 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 08.30- 08.55 น.
ดร.ธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์คือ การเดินหน้าสู่การเป็นคอนเทนต์โพไวเดอร์ ที่รวบรวมสื่อน้ำดีที่มีคุณค่า และสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติ ซึ่งตั้งแต่การจัดสรรทุนปีแรกจนถึงบัจจุบัน มีจำนวน 446 โครงการแล้ว
ทั้งนี้จะมีการต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับผลงานต่างๆ เหล่านั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการผลิตผลงานสื่อน้ำดีที่ร่วมสร้างสรรค์และมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นต่อไป