วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" ระบุข้อความว่า...
คลัสเตอร์ปทุมธานีขยายตัว ไป 9 จังหวัด 182 ราย
สถานการณ์โควิดระลอกสองในประเทศไทย เริ่มต้นจากตลาดกลางค้ากุ้งมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร หลังจากนั้นก็มีการกระจายไปสู่จังหวัดต่างๆมากกว่า 60 จังหวัด ทั่วประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อประมาณ 2 หมื่นราย
สถานการณ์ในขณะนี้ สามารถควบคุมได้อยู่ในระดับที่ไม่ให้มีการแพร่กระจายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแล้ว แต่ยังไม่สามารถที่จะยุติการระบาดระลอกสองอย่างสมบูรณ์ได้ ( ซึ่งคล้ายคลึงกับประเทศต่างๆทั่วโลก ที่มีการระบาดระลอกสอง คือควบคุมได้ยากกว่าการระบาดระลอกแรก)
จุดเริ่มต้นระลอกสอง มาจากตลาด และได้แพร่สู่คลัสเตอร์อื่นๆต่อไป เช่น บ่อนการพนัน สนามชนไก่ สถานบันเทิงโดยเฉพาะที่มีความใกล้ชิดและดื่มแอลกอฮอล์ ร้านอาหาร เป็นต้น
แต่สถานที่ที่มีลักษณะของตลาด แม้เป็นอาคารเปิดโล่งไม่ติดแอร์ ก็ยังมีความสำคัญอยู่ และได้ปรากฏชัดเจนเป็นคลัสเตอร์อีกครั้งหนึ่ง คือตลาดพรพัฒน์ ที่ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรีจังหวัดปทุมธานี
โดยมีเคสเริ่มต้น เป็นผู้หญิงชาวพม่าอายุ 31 ปีรับจ้างขายผักอยู่ในตลาดพรพัฒน์ อยู่แผงบริเวณตอนกลางของตลาด
โดยพบเคสในวันที่ 30 มกราคม 2564 ถัดมาเพียงสองสัปดาห์คือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ก็พบผู้ติดเชื้อจากการค้นหามาตรการเชิงรุกรวมทั้งสิ้น 182 ราย ใน 9 จังหวัด
เป็นของจังหวัดปทุมธานีเอง 164 ราย
นครนายก 7 ราย
เพชรบุรี 3 ราย
สระบุรีและกรุงเทพฯ จังหวัดละ 2 ราย
อยุธยา อ่างทอง นครราชสีมา แพร่ จังหวัดละ 1 ราย
โดยพบการติดเชื้อร้อยละ 13.13 ของการตรวจมาตรการเชิงรุก และเป็นสัดส่วนของคนไทยมากกว่าคนต่างชาติคือ 111 ราย ต่อ 64 ราย
ซึ่งแตกต่างกับเหตุการณ์ที่ตลาดกลางมหาชัย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างชาติ ทำให้การควบคุมการระบาดของโรคที่ปทุมธานีครั้งนี้ ทำได้ยากกว่าที่มหาชัย เพราะการติดเชื้อพบในคนไทยมากกว่า ซึ่งกักตัวหรือควบคุมได้ยากกว่าแรงงานต่างชาติ พบว่า จากการวิเคราะห์ผู้ที่ติดเชื้อในตลาด ซึ่งอยู่ตามแผงต่างๆ จะเห็นว่ามีการเกาะกลุ่มกันอยู่ตอนกลางของตลาด ซึ่งมีหลังคาค่อนข้างเตี้ย อากาศไม่สามารถถ่ายเทได้สะดวก และส่วนใหญ่จะถอดหน้ากากพูดคุยกันหรือทานข้าวร่วมกัน
ตลาดจึงยังถือเป็นจุดที่จะต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไป เพื่อมีให้เกิดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ที่ยากแก่การควบคุมต่อไป ส่วนสถานที่ที่มีความเสี่ยง ต่อการเป็นจุดเริ่มต้นของคลัสตอร์ ก็ต้องควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดต่อไป
ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารที่มีความแออัด สถานบันเทิงประเภทต่างๆ ตลอดจนสถานที่ที่มีผู้มารับบริการที่แออัด มีการระบายอากาศไม่ดี และถ้ามีบางจังหวะที่ต้องถอดหน้ากากอนามัยออก ต้องถือว่าเป็นสถานที่เสี่ยงทั้งสิ้น
ที่มา : https://www.blockdit.com/articles/602a0b3a64b3170ba62d725b
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศบค.เล็งขยายกักตัวต่างชาติ 21 วัน กลุ่มเสี่ยงโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้
"ปทุมธานี"พบติดเชื้อโควิด-19 อีก 41 ราย จากการค้นเชิงรุก
เปิดไทม์ไลน์ พ่อค้าพลอยคนไทยติดโควิดสายพันธุ์แอฟริการายแรกของประเทศ