วัคซีนตัวไหนก็เอา "โควิดพันธุ์ดุ" ไม่อยู่ ระบุเชื้อแอฟริกาใต้แรงมาก

16 ก.พ. 2564 | 15:10 น.

หมอเฉลิมชัยเผยโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้แรงมาก ระบุส่งผลวัคซีนประสิทธิภาพถดถอย

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" ระบุข้อความว่า พบเพิ่มอีก !! ไทยพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่ดุขึ้นคือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ เพิ่มอีกสองรายรวมเป็นสามราย และกำลังติดตามอีกสองสายพันธุ์ใหม่อย่างใกล้ชิด

จากที่มีรายงานข่าวว่า ไทยพบการติดโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ในคนไทยที่เดินทางกลับมาจากแทนซาเนีย และสามารถตรวจกักตัวไว้ได้ทันในสถานกักตัวของรัฐ(SQ) นั้น

รายละเอียดว่าเป็นชายไทยอายุ 41 ปี ไปทำการค้าพลอยที่ประเทศแทนซาเนีย อยู่ประมาณสองเดือน เมื่อเดินทางกลับมา ก็กักตัวอยู่ใน SQ

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เริ่มมีอาการไอ ไข้ต่ำ

 4 กุมภาพันธ์ 2564 ไอมากขึ้น ตรวจพบปอดอักเสบรุนแรง และมีเชื้อจำนวนมาก

12-13 กุมภาพันธ์ 2564 ย้ายมารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาฯ แม้ให้ยาต้านไวรัสแล้ว แต่ปริมาณไวรัสก็ไม่ลดลง และภูมิคุ้มกันขึ้นช้าด้วย ในที่สุดจึงตรวจพบว่า เป็นไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้ และได้มีการตรวจเพิ่มเติม โดยศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยพบคนไทยติดโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้อีกสองรายรวมเป็นสามราย

จึงควรมาทำความรู้จักกับไวรัสกลายพันธุ์ของโควิดโดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาใต้กันดู  โควิดเกิดจากไวรัสโคโรนาลำดับที่เจ็ด ซึ่งเป็นไวรัสมีสารพันธุกรรมเดี่ยวอาร์เอ็นเอ(RNA) จึงมีโอกาสที่จะกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ โดยพบการเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งที่กลายพันธุ์ไป 1-2 ตำแหน่งทุกๆเดือน และจะมีการกลายพันธุ์ให้ตรวจพบได้ทุกสองเดือน

ช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่มีไวรัสเริ่มที่เมืองอู่ฮั่นประเทศจีน ก็มีการกลายพันธุ์มาตลอด แต่ยังไม่มีผลกระทบทางด้านความสามารถในการแพร่ระบาด และความรุนแรงของโรค หรือกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีน

จนกระทั่งเป็นสายพันธุ์อินเดีย ผ่านมาประเทศเมียนมา เข้าสู่ไทย และอีกสายพันธุ์หนึ่งเข้าไปทางยุโรป แต่ก็ยังไม่มีลักษณะทางคลินิกที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน มีแต่การเปลี่ยนแปลงกลายพันธุ์ตามปกติ ขณะนี้ไวรัสที่ระบาดระลอกสองของประเทศไทย ยังเป็นสายพันธุ์ของเมียนมา ซึ่งยังไม่มีการกลายพันธุ์

ส่วนไวรัสกลายพันธุ์ที่มีนัยสำคัญในโลกเราขณะนี้ มีสามสายพันธุ์ด้วยกัน และสายพันธุ์ที่ดุและมีผลกระทบรุนแรงที่สุดในขณะนี้คือสายพันธุ์ของแอฟริกาใต้ ซึ่งไทยเราตรวจพบไปแล้วสามคนนั่นเอง

สายพันธุ์แรกที่พบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญได้แก่ สายพันธุ์อังกฤษ (B 117) ซึ่งประเทศไทยพบแล้ว 9 ราย กักตัวไว้ได้ทั้งหมดในสถานกักตัว

สายพันธุ์ที่สองคือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B 1351) ซึ่งพบแล้วสามราย และกักตัวได้ทั้งหมด

สายพันธุ์ที่สามคือ สายพันธุ์บราซิล (P.1) ยังไม่มีรายงานพบในประเทศไทย

เฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาใต้ มีผลกระทบต่อความรุนแรงของโรค ที่สร้างความกังวลเพราะ อย่างน้อยมีวัคซีนถึงสามบริษัท ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ลดลง เมื่อเจอกับไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ได้แก่ วัคซีนของ Novavax ซึ่งมีประสิทธิภาพ 95.6%  เมื่อเจอกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ประสิทธิภาพลดลงไปเหลือ 60% ในขณะที่เมื่อเจอกับสายพันธุ์อังกฤษประสิทธิภาพลดลงไปเหลือ 85.6%

วัคซีนของบริษัท Johnson&Johnson จากประสิทธิภาพที่ป้องกันสายพันธุ์เดิมได้ในสหรัฐอเมริกา 72% เมื่อพบกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ลดลงเหลือเพียง 57%

วัคซีนของ AstraZeneca ลดลงไปมากเหลือ 21.9% จนทำให้ทางการแอฟริกาใต้สั่งยุติการฉีดวัคซีนไว้ก่อน

และวัคซีนของ Pfizer และของ Moderna ทดลองในห้องปฏิบัติการ ก็พบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองต่อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้ มีประสิทธิภาพลดลงเช่นกัน

เรื่องไวรัสกลายพันธุ์ จากเดิมที่เคยพบว่ามีผลเฉพาะเพิ่มความสามารถในการแพร่เชื้อในสายพันธุ์อังกฤษ ได้ขยับมามีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนในสายพันธุ์แอฟริกาใต้ จึงต้องระมัดระวังกันอย่างเต็มที่ อย่างน้อยควรดำเนินการดังต่อไปนี้

1) ต้องกำชับและเข้มงวดมาตรการที่มีอยู่แล้วในสถานกักกันตัว ไม่ว่าจะเป็น SQ หรือ ASQ เพราะถ้าหลุดลอดออกมาได้ จะเกิดความยุ่งยากมากทีเดียว

2) ที่ทางการเริ่มมีการหารือกันว่า อาจจะขยายวันกักตัวจาก 14 วันเป็น 21 วัน ในกรณีเดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงนั้น เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะถ้ากักตัว 21 วัน โอกาสที่จะหลุดรอดออกไปจะน้อยกว่า 14 วัน

3) อาจจำเป็นต้องทำการขยายประเทศต้นทางกลุ่มเสี่ยง ที่ผู้เดินทางจากต่างประเทศกลับเข้ามาในประเทศไทย ให้มากกว่าประเทศที่มีรายงานแล้ว เช่น อังกฤษ แอฟริกาใต้ และบราซิล

ควรจะต้องตามไปดูประเทศที่มีสายพันธุ์แอฟริกาใต้ระบาดด้วย แม้อยู่นอกทวีปแอฟริกา เพื่อที่จะทำให้มีการตรวจหาสารพันธุกรรมของสายพันธุ์แอฟริกาใต้  เพราะในผู้ที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ อยู่ในสถานกักตัวนั้น เป็นการตรวจเพียงให้ทราบว่ามีไวรัสโควิดหรือไม่เท่านั้น (PCR)

ส่วนการจะตรวจให้ทราบว่า มีสารพันธุกรรมเป็นสายพันธุ์ใด จะต้องใช้เวลาและทำได้จำนวนจำกัดมาก จึงทำการตรวจ เฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น ไม่ได้ทำกับผู้ที่กักตัวทุกราย หรืออาจพิจารณา งดหรือสั่งห้าม ไม่ให้ผู้ที่มาจากประเทศที่มีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยชั่วคราวก่อน การเร่งขยายขอบเขตของประเทศกลุ่มเสี่ยงออกไป จะทำให้เกิดความมั่นใจได้มากขึ้นว่า เราจะได้ทำการตรวจหาสารพันธุกรรมเพื่อระบุว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์ไหน จะได้ไม่มีไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้หลุดรอดออกจากสถานกักตัวไปแพร่เชื้อได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง