เมื่อกลางปี 2563 ผู้อำนวยการคนใหม่ของธนาคารออมสิน "วิทัย รัตนากร" ได้ประกาศวิสัยทัศน์ นำองค์กรสู่การเป็น Social Bank เต็มรูปแบบ พร้อมทั้งมีการจัดทัพปรับโครงสร้างองค์กร ปรับกระบวนการจัดการ รวมทั้งเสริมเรื่องนวัตกรรม เพื่อเพิ่มคุณภาพองค์กรอย่างเต็มที่ จนทำให้ล่าสุด ได้คว้ารางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) ประจำปี 2563 ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ มาครอง ซึ่งถือเปป็นองค์กรที่ 7 ที่ได้รับรางวัลนี้
"วิทัย รัตนากร" ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวบนเวทีการประกาศรางวัลว่า รู้สึกภูมิใจอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารออมสินได้เข้ารับการตรวจประเมินตั้งแต่ปี 2558 และได้รับรางวัล TQC Plus: Operation ในปี 2562, รางวัล TQC Plus: Customer ในปี 2561 และรางวัล TQC ในปี 2560
ธนาคารออมสินเป็นธนาคารรัฐขนาดใหญ่ มีสินทรัพย์กว่า 2.9 ล้านล้านบาท มีทั้งลูกค้าสินเชื่อ และลูกค้าเงินฝาก กว่า 22 ล้านราย ส่วนใหญ่ออมสินทำธุรกิจเชิงนโยบายและเชิงสังคม ลูกค้าส่วนใหญ่ของธนาคารคือกลุ่มประชาชนที่ธนาคารพาณิชย์อาจไม่ได้สนใจ แต่ถือเป็นกลุ่มประชาชนฐานรากและเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนนี้ ต้องการให้ธนาคารออมสินทำหน้าที่ดูแลอย่างเต็มที่ ไม่ว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อย และองค์กรชุมชน
"การปรับองค์กร เราบูรณาการแนวคิดในเชิงระบบ มีการปรับปรุงกระบวนการจัดการ ปรับปรุงคุณภาพ ตอบสนองความต้องการของลูกค้า และปรับนวัตกรรม ตามแนวทางของ TQA ทำให้ประสิทธิภาพเราดีขึ้น การที่ออมสินเป็นองค์กรขนาดใหญ่ เมื่อองค์กรมีประสิทธิภาพ ก็สามารถสร้างอิมแพ็คให้ประเทศและสังคมได้ดียิ่งขึ้น"
"วิทัย" กล่าวว่า ปีที่แล้วได้ปรับองค์กรเป็น Social Bank ธนาคารเพื่อสังคม พร้อมทั้งทำธุรกิจควบคู่ ข้างหนึ่งของออมสิน คือ การทำหน้าที่ธนาคารในเชิงพาณิชย์ อีกข้างหนึ่ง ก็ดูแลภารกิจเชิงสังคมด้วย เชิงพาณิชย์ทำกำไรมาซัพซิไดร์ฟดูแลธุรกิจเชิงสังคม
ปีที่แล้ว ตั้งแต่ต้นปี ประเทศไทยมีปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา ธนาคารออมสิน ในฐานะที่เป็นธนาคารเพื่อสังคม ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาความยากจน ต้องการ “Making POSITIVE Impact on Society” จริงๆ ...ต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเกิดผลลัพธ์ที่ดีจริงๆ กับประชาชนและสังคม
จากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้ปีที่แล้วปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และความยากจน รุนแรงขึ้นมากๆ ธนาคารออมสินนจึงเข้าไปดำเนินการตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี รวม 17 โครงการ ช่วยคนไป 5 ล้านคนทั้งทางตรงทางอ้อม และใส่เงินเข้าระบบ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินนอกเหนือจากภารกิจปกติ มีการปรับกำไรบางส่วนลงมา เพื่อซัฟซิไดร์ฟส่วนของสังคม
นอกจากนี้ ในแง่ของนวัตกรรม ตั้งแต่สิ้นปี 2563 ธนาคารออมสิน ได้เปลี่ยนการบริหารเข้าสู่ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ เป็นโมบายแบงกิ้ง ปีที่แล้วมีการลอนซ์ Digital Lending เฟสหนึ่งสำเร็จ และปลายปีนี้จะเสร็จเฟสสอง และจากการลอนซ์เฟสหนึ่งไปเมื่อมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ทำให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 4 .5 แสนราย ภายใน 10 วัน ซึ่งจำนวน 4.5 แสนรายนี้ เทียบเท่ากับฐานลูกค้าของแบงก์ขนาดกลางทั้งแบงก์เลยทีเดียว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
การทำ Digital Lending ก็คือส่วนหนึ่งของภารกิจที่ "วิทัย" ประกาศไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ในการนำธนาคารออมสินเข้าสู่ธุรกิจ Non-Bank อย่างเต็มตัว ภายใต้การมุ่งสู่ Social Bank ด้วยการสนับสนุนแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาดในปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อย/ผู้มีรายได้น้อยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยสิ่งที่มีแผนดำเนินการ อาทิ สินเชื่อบุคคล/บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยมีเป้าที่จะลดภาระดอกเบี้ยของผู้กู้ลงให้ได้ 8-10%
การพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพองค์กรมาจนถึงขณะนี้ แม่ทัพคนใหม่ของธนาคารออมสิน บอกว่า ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารภายในองค์กรอย่างมาก สิ่งที่ต้องการเปลี่ยนในวันนี้ ไม่ได้เปลี่ยนตัวตนของออมสิน เพราะออมสินมีพันธกิจในการดูแลสังคมอยู่แล้ว เพียงแต่จะทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น และการจะทำให้ภารกิจในการดูแลสังคมชัดเจนมากขึ้นได้ ภายในองค์กรต้องมีการปรับในหลายด้าน ทั้งการลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย การปรับลดงบโฆษณาประชาสัมพันธ์
ส่วนสิ่งที่ทำดีออยู่แล้ว ก็ต้องต่อยอดให้ดีขึ้น โครงการต่างๆ ต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมและมีผลต่อสังคมอย่างเห็นได้ชัด โดยการใช้ Digital Banking เป็นตัวขับเคลื่อนภารกิจ Social Bank ให้มีคุณภาพ และพุ่งเป้าสู่ความสำเร็จในที่สุด
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 24 ฉบับที่ 3,654 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564