24 กุมภาพันธ์ 2564 - นางสาวกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ จากการที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติเสียงข้างมากอนุญาตให้เกิดการควบรวมบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทซีพี รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด นั้น ผลของการควบรวมนี้ก่อให้เกิดการมีอำนาจเหนือตลาดของกลุ่มเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง มากกว่า 83.97%
ทั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทซีพีออล จำกัด และบริษัทสยามแมคโคร จำกัด ที่มีส่วนแบ่งในตลาดสูงสุด ดังนั้นเป็นมติที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของพรบ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่กำหนดไม่ให้ภาคธุรกิจใดมีอำนาจเหนือตลาดเกินกว่า 50% ในกิจการที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท และขัดต่อสิทธิผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ตามพรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
นางสาวกชนุช กล่าวเพิ่มว่า “สถานการณ์โรคระบาด โควิด 19 จะเห็นได้ว่าในหลายๆ พื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง จะมีการปิดตลาด ปิดร้านอาหารตามกำหนดเวลา ประชาชนไม่มีทางเลือกนอกจากเข้าร้านค้าส่ง คือห้างแมคโคร แทนตลาด เข้าร้านสะดวกซื้อเมื่อร้านอาหารปิดหลังสามทุ่ม ซึ่งขณะนี้มีอย่างน้อย 5 จังหวัด ที่มีเพียง ร้านสะดวกซื้อของ 7-11 และ เทสโก้โลตัสเท่านั้น จึงเห็นได้ว่า จังหวัดเหล่านี้เกิดการผูกขาด 100% ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในภาวะวิกฤติ
ด้านนายปรีดา เตียสุวรรณ์ อดีตประธานคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายว่าด้วยการค้าที่เป็นธรรมและการคุ้มครองผู้บริโภค (พศ. 2551-2552) กล่าวในทัศนะของกรรมการผู้ร่างกฎหมายว่า “อำนาจเหนือตลาดเกิดขึ้นที่จุด 50% ของส่วนแบ่งในตลาดด้วยว่า ผู้มีอำนาจนั้นสามารถที่จะกำหนดให้ผู้ผลิตขายสินค้าแก่กลุ่มของตนในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งทั้งหลาย กลุ่มผู้มีอำนาจจึงสามารถตั้งราคาขายในตลาดต่ำกว่าคู่แข่ง จึงก่อให้เกิดการผูกขาดในสินค้านั้นๆ
ฉะนั้น คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้แบ่งตลาดออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ร้านสะดวกซื้อ 2. ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต 3. ร้านค้าส่ง จึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด เนื่องจากสินค้าที่ราคาถูกกว่านั้นก็ตั้งอยู่ในร้านทั้ง 3 ประเภทอยู่ดี จากเหตุผลข้างต้น การผูกขาดได้เกิดขึ้นแล้วในส่วนแบ่งตลาด 50% กรรมการแข่งขันทางการค้าจึงมีหน้าหน้าที่และความรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง
นายปรีดากล่าวต่อว่า สินค้าอุปโภคบริโภค (Grocery) ถือว่าเป็นสินค้ายุทธปัจจัยที่ประชาชนจะต้องใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เมื่อการผูกขาดเกิดขึ้นย่อมต้องกระทบต่อเสถียรภาพของผู้บริโภค สังคมและประเทศ ในท้ายสุดจะมีความกระทบต่อความมั่นคงในชีวิต กระทบต่อขวัญและจิตใจของประชาชน โดยกังวลว่าสินค้านั้นจะถูกขึ้นราคาอย่างไม่มีเหตุผลหรือไม่ หรือจะมีการกักตุนเป็นต้น ลงท้ายด้วยการก่อการประท้วงและจลาจลได้
รวมถึงการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันชองบริษัทที่ประสงค์เข้ามาเป็นคู่แข่ง ขัดต่อการส่งเสริมศักยภาพการเติบโตของผู้ลงทุนหน้าใหม่ (สตาร์ทอัพ) ตามนโยบายรัฐบาล ไม่เป็นไปตามกลไกการค้าเสรี เกิดการกีดกันการแข่งขันทางการค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศของผู้ค้าส่ง ผู้ผลิตสินค้า และนักลงทุนในอุตสาหกรรมด้านอุปโภคบริโภค ทำให้ผู้บริโภคเสียโอกาสในการได้รับสินค้าที่หลากหลาย ในราคาที่เกิดจากการแข่งขันอย่างแท้จริง”
ด้านวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวเสริมว่า “มตินี้มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศทำให้ภาคการเกษตรผู้ผลิตอาหารต้องพึ่งพา และอยู่ภายใต้อำนาจการกำหนดชนิดของสินค้าเกษตร และราคาของบริษัทเดียวที่มีอำนาจเหนือตลาดมากกว่า 80% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติ สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาแพง ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น กล้วยหอม มีราคาใกล้เคียงกันหรือสูงกว่าในประเทศในยุโรปหรืออมริกา ทั้งที่ประชาชนมีรายได้ต่ำกว่า 5-11 เท่า การมีอำนาจเหนือตลาด หรือการผูกขาดของบริษัทใดๆ ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งก็ตาม จะเป็นอุปสรรคในการนำพาประเทศฝ่าวิกฤติไปได้ยากลำบาก
ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ทนายความในคดีนี้ เห็นว่า การมีมติที่ให้บริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาดควบรวมได้ ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย พรบ. แข่งขันทางการค้า 2560 เนื่องจากการตีความครั้งนี้ จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานและการบังคับใช้กฎหมายทางเศรษฐกิจ การตีความทางกฎหมายที่ฉ้อฉลที่ตีความว่า การมีอำนาจเหนือตลาดกว่า 80% “ไม่ถือว่าเป็นการผูกขาด” ซึ่งอาจจะนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบการผูกขาดลักษณะเดียวกันในธุรกิจด้านอื่นๆ ของประเทศต่อไปในอนาคต ทำให้ธุรกิจขนาดเล็ก และผู้บริโภคได้รับผลกระทบในท้ายที่สุด
"ดิฉันจึงขอเชิญชวนผู้ได้รับผลกระทบจากมติของคณะกรรมการฯ ได้แก่ สมาคม หรือองค์กรทางการค้าปลีกค้าส่ง นักธุรกิจ นักอุตสาหกรรมด้านอุปโภคบริโภค เกษตรกร และผู้บริโภคทั่วไปที่เป็นผู้บริโภคร่วมเป็นโจทย์ฟ้องร้องคณะกรรมการเสียงข้างมากต่อมติดังกล่าว เพื่อนำมาสู่การแก้ไข และสร้างมาตรฐานมี่ดีต่อการค้าเสรี และการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป ในวันที่ 15 มีนาคม นี้ ซึ่งเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคสากล " นางสาวกชนุช กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :