เปิด 5 ปัจจัยเสี่ยงเร่งให้เกิดโควิด-19 ระลอกสาม

17 มี.ค. 2564 | 17:10 น.

เปิด 5 ปัจจัยเสี่ยงเร่งให้เกิดโควิด-19 ระลอกสาม หมอธีระชี้หากลุยตรวจไม่จริงจังเพื่อแยกผู้ป่วยไปรักษาระลอกสามมาปลายเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า คาดการณ์ไว้ตั้งแต่แรกว่าระลอกสองนั้นต้องมาตัดสินกันหลังกลางเดือนมีนาคม แนวโน้มที่เห็นพอจะบ่งชี้ว่าสถานการณ์เราคงคาบเกี่ยวราวหลักร้อย

              หากตั้งใจตะลุยตรวจให้ได้อย่างจริงจังและครอบคลุมเพื่อแยกคนที่ติดเชื้อไปดูแลรักษาและชะลอการระบาด โอกาสเห็นต่ำกว่าร้อยในสิ้นเดือนคงพอมีได้ ขออย่าทำเพียงพอเป็นพิธี แล้วไปปล่อยให้เสี่ยงโชคตามแนวทางปิดประตูตีแมวซึ่งจะกลายเป็นดงโรคระยะยาวแบบที่เห็นก่อนหน้านี้ในพื้นที่อื่น

              ด้วยสิ่งที่เห็นตอนนี้ ผนวกกับบทเรียนของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก พอจะบอกได้ว่าระลอกสามอาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในช่วงตั้งแต่ 7-10 สัปดาห์หลังจากจบมีนาคม นั่นคือช่วงปลายพฤษภาคมถึงมิถุนายน...หากไม่มีปัจจัยอื่นมาเป็นเชื้อไฟก่อนกำหนด

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

              เชื้อไฟนั้นก็อย่างที่เรารู้กันดี ได้แก่

              หนึ่ง การมุ่งแต่ผลักดันเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งๆ ที่การระบาดในประเทศก็ยังกระจายต่อเนื่องและมีอาวุธป้องกันโรคที่จำกัดหรือมีสรรพคุณไม่มากพอ

สอง การลดวันกักตัวลงไปจากเดิมที่มี 14 วันตามมาตรฐานทางการแพทย์ ใช้ข้ออ้างว่ารับวัคซีนมาแล้ว โดยหารู้ไม่ว่าวัคซีนหลายชนิดที่ใช้กันนั้นไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะนำเชื้อเข้ามาสู่ประชาชนภายในประเทศได้แม้จะรับวัคซีนมาแล้วก็ตาม

              สาม การทำให้คนเข้าใจผิด ไม่เข้าใจถึงสรรพคุณที่แท้จริงของวัคซีนที่มีใช้ จนนำไปสู่ความประมาท การ์ดตก ทั้งในหมู่ประชาชน พ่อค้าแม่ขาย เจ้าของและบุคลากรในธุรกิจอุตสาหกรรมและบริการต่างๆ

              สี่ การยุให้เหยียบคันเร่งหาเงินโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ตะลอนท่องเที่ยวมากขึ้น เฮฮาปาร์ตี้ หรือจัดเทศกาลต่างๆ ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาด แออัด พบปะสัมผัส ฯลฯ

              ห้า การหลุดรอดของไวรัสกลายพันธุ์ ผ่านช่องทางต่างๆ เข้ามาระบาดในประเทศ

ดังนั้น สิ่งที่ควรทำเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยจากระบาดซ้ำ และมีโอกาสฟื้นฟูประเทศในระยะยาวคือ การเร่งจัดหา และเปิดทางให้มีวัคซีนสรรพคุณสูงและรองรับไวรัสกลายพันธุ์ได้ ,การขยายขีดความสามารถของระบบตรวจคัดกรองให้ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีอาการก็ตาม ,การลดละเลิกการผลักดันนโยบายและมาตรการที่นำความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำเข้ามาในประเทศ และสิ่งสำคัญมากคือ การเร่งปฏิรูประบบธุรกิจอุตสาหกรรมค้าขายและบริการ ให้มีรูปแบบการดำเนินงานใหม่อย่สงถาวรที่เน้นความปลอดภัยทั้งต่อคนทำงานและคนมาใช้บริการ

              ยืนยันว่าตอนนี้ไม่ปลอดภัยครับ ไม่ใช่เวลาตะลอนท่องเที่ยว

ขอให้ป้องกันตนเองและครอบครัวอย่างเคร่งครัด และร่วมกันเรียกร้องให้มีการจัดหาหรือเอื้อให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมีส่วนร่วมในการจัดหาวัคซีนอื่นๆ ที่มีสรรพคุณสูงมาใช้ในประเทศ ตัดสินใจประพฤติปฏิบัติตัวโดยใช้ความรู้เป็นแสงส่องทาง

              ด้วยรักและปรารถนาดีเสมอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :