กรมชลประทานจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ศึกษาทำแผนหลักพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-กลาง ต่อเนื่องจากตอนล่างที่เริ่มลงมือก่อสร้างแล้ว เพื่อความยั่งยืน มั่นคง แก้ครบวงจรทั้งน้ำท่วม-ภัยแล้งทั้งลุ่มน้ำอีสานเหนือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองอุดรธานี ว่าที่ ร.ต.พงษ์สิทธิ์ เปรยะโพธิเดชะ ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองอุดรธานี เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 อุดรธานี โครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง ซึ่งเป็นการประชุม 1 ใน 3 อำเภอ/พื้นที่ ประกอบด้วย อ.เมืองอุดรธานี อ.หนองวัวซอ และ อ.กุดจับ มีมีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในโครงการ ประชาชนที่ให้ความนใจ อาทิ นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรานี เข้าร่วมรับฟังการประชุมและแสดงความคิดเห็น เสนอข้อแนะนำปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ สอบถามการดำเนินการของโครงการดังกล่าวอย่างคึกคัก
นายวุฒินนท์ คำเดช ผู้จัดการโครงการ เปิดเผยว่า สำหรับลุ่มห้วยหลวง มีการแบ่งออกเป็นลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ตอนกลางและตอนบน เป็นลุ่มน้ำที่มีความสำคัญมากสำหรับ 5 จังหวัดของภาคอีสานตอนบน คือ อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย และบึงกาฬ ที่ผ่านมารัฐบาลโดยกรมชลประทานได้เล็งเห็นถึงปัญหา มีการวางแผนแก้ไขบรรเทาปัญหาของลุ่มน้ำห้วยหลวงอย่างเป็นระบบ เนื่องจากสภาพพื้นที้และระบบลำน้ำ มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกัน และระบบลุ่มน้ำหลัก จำเป็นที่ต้องใช้ระบบบริหารจัดการ ที่สามารถบูณาการทั้งปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่ดำเนินการ
ที่ผ่านมากรมชลประทานได้มีการดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และวางแผนการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในจังหวัดอุดรธานีบางส่วน หนองคายและบึงกาฬ แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยในปี พ.ศ. 2558 มีการตั้งงบประมาณกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท สำหรับการพัฒนาโครงการต่าง ๆ และมีการพัฒนาปรับปรุงก่อสร้างโครงการต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว อาทิเช่น การก่อสร้างสถานีสูบน้ำแดนเมือง ที่ปากลำห้วยหลวง-แม่น้ำโขง จ.บึงกาฬ ประตูระบายน้ำ(ปตร.)ตามลำห้วยห้วยหลวง 12 แห่ง ที่เสร็จแล้ว เช่นที่ ปตร.บ้านสามพร้าว อ.เมืองอุดรธานี หรือปตร.บ้านดอนกลอย อ.หนองหาน ฯลฯ
ในการประชุมครม.สัญจรที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 และการประชุม กรอ. เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในครั้งนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการเร่งด่วน ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ทำการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง เพื่อให้การพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสอดคล้องทั้งลุ่มน้ำ โดยมีพื้นที่ศึกษาในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองบัวลำภูบางส่วน เฉพาะอำเภอเมืองหนองบัวภู รวม 6 อำเภอ 45 ตำบล เป็นระยะเวลา 540 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย.2563 ถึงวันที่ 2 ธ.ค.2564
ขอบเขตพื้นที่ที่จะทำการศึกษา ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำห้วยหลวง ในพื้นที่อำเภอหนองวัวซอ ไปจนถึงบริเวณประตูระบายน้ำบ้านสามพร้าว รวมถึงพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง และพื้นที่สำหรับการพัฒนาโครงการเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการพัฒนา และพื้นที่อื่น ๆ เป็นพื้นที่กว้างประมาณ 1,970 ตาราง ก.ม. ความยาวตามแนวของลำน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง ประมาณ 148 ก.ม.
นายวุฒินนท์กล่าวต่อว่า วัตถุประสงค์โครงการเพื่อศึกษาแผนหลักการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัย เพื่อกำหนดแนวทางแผนการพัฒนาแหล่งน้ำที่ให้ประสิทธิผลที่ดี ในการบรรเทาปัญฆาขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตรกรรม รวมถึงระบบการกระจายน้ำในพื้นที่โครงการ มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศท้ายน้ำ โดยต้องนำผลการศึกษาห้วยหลวงตอนล่างมาประกอบการพิจารณาด้วย
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ต้องศึกษาความเหมาะสมของโครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ที่มีความสำคัญเร่งด่วน ซึ่งมุ่งเน้นบรรเทาปัญหาอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำ การพัฒนาลุ่มน้ำและพื้นที่ชลประทานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติกการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดำเนินการสำรวจเพื่อการออกแบบเบื้องต้น พร้อมทำการประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ บูรณาการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และประชาชนโดยทั่วไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าการดำเนินโครงการต่าง ๆ มีความมุ่งมั่น ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้แก่ราษฎรอย่างโปร่งใส และสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมของสาธารณชนอย่างจริงจัง
ส่วนประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการดังกล่าวคือ มีแผนหลักสำหรับการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง ให้เชื่อมโยงสอดคล้องกับการพัฒนาห้วยหลวงตอนล่าง ที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ บรรเทาอุทกภัย ภัยแล้งอย่างเป็นระบบแบบบูรณาการ ขับเคลื่อนให้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 20 ปี มีรายงานการศึกษาความเหมาะสม และรายงานการประเมินแผนกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วนอย่างน้อย 2 โครงการ เพื่อดำเนินอกแบบรายละเอียดและพัฒนาต่อไป และเพื่อให้มีการพัฒนาปรับปรุงโครงการตามแผนหลัก การพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง เพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำที่ยั่งยืนและบูรณาการ กระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมสู่ชุมชนและประชาคมในพื้นที่ บนความยั่งยืนของทรัพยากรด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ
“สภาพปัญหาหลัก ๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลางเวลานี้ มีเกือบทุกด้าน เช่น ปัญหาด้านกายภาพของลุ่มน้ำ ปัญหาทรัพยากรดิน ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่เป็นสาเหตุส่งผลกระทบต่ออาชีพ และรายได้ของประชาชน ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างรายได้ของในเขตเมือง ที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ และในเขตชนบทที่เป็นพื้นที่การเกษตร โยเฉพาะในพื้นที่เกษตรน้ำฝน ที่มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าเกณฑ์ หรือด้านสังคม ในฤดูฝนก็ไม่สามารถเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ได้พอเพียง มีอุทกภัยน้ำท่วม ในฤดูแล้งก็มีภัยแล้ง จึงมีความจำเป็นต้องเร่งศึกษา วางแผนการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงและอื่น ๆ แบบบูรณาการ” นายวุฒินนท์ฯกล่าว
โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาโครงการนี้ มีบริษัท พี แอนด์ ซี แมนเจเมนท์ จำกัด และ บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และจะจัดประชุมในกลุ่มพื้นที่ต่อไป คือ อ.บ้านผือ อ.ประจักษ์ศิลปาคมบางส่วน และพื้นที่ของ อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู บางส่วน