เรือ Ever Given ติดคลองสุเอซ เกี่ยวอะไรกับ supermoon

30 มี.ค. 2564 | 09:28 น.

รู้ยัง!ภารกิจกู้เรือ Ever Given ที่ติดคลองสุเอซ เกี่ยวข้องอะไรกับปรากฏการณ์ supermoon หรือ ดวงจันทร์เต็มดวง

หลังจากเมื่อวานนี้( 29 มี.ค.64)ภารกิจกู้เรือ Ever Given ประสบความสำเร็จ และทำให้คลองสุเอซ กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ล่าสุดทางเพจเฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ได้โพสต์บทความเกี่ยวกับการกู้เรือดังกล่าว ว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับ supermoon หรือวันดวงจันทร์เต็มดวง โดยเนื้อหาบทความมีดังต่อไปนี้


เรือติดคลอง จะเรียกใครช่วย? เราไม่เรียก superman แต่เรียก supermoon!


ช่วงนี้หลายๆ คนน่าจะรู้เรื่องของเรือสินค้า Ever Given ที่ติดคลองสุเอซ ทำเอาการค้าขายและขนส่งทางเรือกว่าค่อนโลกเป็นอัมพาต ด้วยขนาดเรือกว่า 400 เมตรและน้ำหนักกว่า 200,000 ตัน บวกกับความเร็วทำให้เรือนั้นเอาท้องเรือไปติดอยู่กับพื้นทรายที่ตื้นเขิน และทำให้การลากจูงเรือทำได้ยากมาก


แต่เมื่อวานนี้ (29 มีนาคม 2021) หลังจากที่ติดขวางคลองสุเอซอยู่กว่า 6 วัน ในที่สุดเรือก็หลุดออกมาได้เสียที


แต่ทราบไหมว่า เมื่อวานนี้มีอีกปรากฏการณ์เกิดขึ้น นั่นก็คือ "Supermoon" แล้วว่าแต่ว่าสองเหตุการณ์นี้มันเกี่ยวกันยังไง?


Supermoon หรือ Super Fullmoon นั้น เป็นปรากฏการณ์ที่เหตุการณ์สองอย่างเกี่ยวกับดวงจันทร์เกิดขึ้นพร้อมกันพอดี นั่นก็คือ ดวงจันทร์เต็มดวง กับดวงจันทร์ใกล้โลก


แท้จริงแล้วทั้งดวงจันทร์เต็มดวง และดวงจันทร์ใกล้โลกนั้นเกิดขึ้นอยู่ทุกเดือน เนื่องจากดวงจันทร์เต็มดวงเกิดขึ้นจากการที่ดวงจันทร์ไปอยู่ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ จึงเกิดขึ้นทุกๆ 29.5 วัน แต่วงโคจรของดวงจันทร์นั้นเป็นวงรี จึงมีระยะห่างใกล้ไกลจากโลกเปลี่ยนไปตามวงโคจร ซึ่งใช้เวลา 27 วัน 


ด้วยเหตุที่สองคาบนี้ (เรียกว่า คาบ กับ คาบซินอดิก) ไม่เท่ากัน ทำให้สองปรากฏการณ์เกิดขึ้นเหลื่อมกันไปเรื่อยๆ แต่จะกลับมาประจวบเหมาะกันอีกครั้งประมาณทุกๆ 14 รอบจันทร์เต็มดวง และเมื่อวานนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวันที่ทั้งสองเหตุการณ์นี้มาประจวบเหมาะกันพอดี


ปรากฏว่าสองเหตุการณ์นี้นั้นเป็นเหตุการณ์ที่ประจวบเหมาะมาก กับการพยายามที่จะกู้เรือ Ever Given ออกมาจากคลองสุเอซ ที่เป็นเช่นนี้ก็เป็นเพราะว่าดวงจันทร์นั้นมีผลโดยตรงกับน้ำขึ้นน้ำลง และการเกิด Supermoon นั้นเป็นกรณีที่จะช่วยให้เกิดแรงน้ำขึ้นน้ำลงได้สูงที่สุดแล้ว


แรงน้ำขึ้นน้ำลงนั้น เกิดขึ้นจากแรงที่เรียกว่าแรงไทดัล ซึ่งก็มาจากแรงโน้มถ่วงนั่นเอง เนื่องจากแรงโน้มถ่วงนั้นจะเปลี่ยนแปลงตามระยะห่าง พื้นโลกส่วนที่อยู่ใกล้ดวงจันทร์จะได้รับแรงโน้มถ่วงจากดวงจันทร์มากกว่าศูนย์กลางของโลก ของเหลวจึงมักจะถูกดึงโย้ไปกองรวมกันส่วนที่ใกล้ดวงจันทร์มากกว่า เกิดเป็นน้ำขึ้น


ในขณะเดียวกัน ด้านตรงข้ามดวงจันทร์ได้รับแรงโน้มถ่วงจากดวงจันทร์น้อยกว่าศูนย์กลางของโลก น้ำในบริเวณตรงข้ามดวงจันทร์จึงเปรียบได้กับการยืนอยู่บนพื้นที่กำลังตกลงด้วยอัตราสูงกว่า จึงมีระดับที่สูงกว่า เป็นเหตุให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลงวันละสองรอบ

 

แต่นอกจากดวงจันทร์แล้ว อีกวัตถุท้องฟ้าหนึ่งที่ส่งแรงไทดัลต่อโลกด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ ดวงอาทิตย์ แม้ว่าดวงอาทิตย์จะมีมวลมากกว่าดวงจันทร์เป็นอย่างมาก แต่ว่าดวงอาทิตย์นั้นอยู่ไกลกว่าดวงจันทร์มาก แรงไทดัลที่มาจากดวงอาทิตย์จึงอ่อนกว่าจากดวงจันทร์ โดยมีแรงเพียงประมาณ 1 ใน 3

แต่สิ่งที่ทำให้ซับซ้อนขึ้นไปอีกก็คือ แรงไทดัลจากวัตถุทั้งสองนี้นั้นไม่ได้ออกแรงไปในทิศทางเดียวกันเสมอ เปรียบได้กับเด็กสองคนที่พยายามจะดึงหนังยางไปในคนละทาง เมื่อไหร่ก็ตามที่แรงไทดัลจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เสริมกัน ก็จะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "น้ำเกิด" (spring tide) ซึ่งจะเกิดน้ำขึ้น-น้ำลงได้สูงสุด 


แต่หากแรงไทดัลทั้งสองนั้นกระทำในทิศตั้งฉากกัน แรงไทดัลก็จะหักล้างกันในบางส่วน ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "น้ำตาย" (neap tide) ซึ่งเป็นช่วงที่ระดับน้ำขึ้น-น้ำลงต่างจากค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด


ปรากฏการณ์ "น้ำเกิด" จะเกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ อยู่ในทิศทางเดียวกัน หรือตรงข้ามกันพอดี เช่น ในวันเพ็ญที่ดวงจันทร์อยู่ตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์พอดี นอกไปจากนี้ เนื่องจากระยะห่างของดวงจันทร์จากโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากวงโคจรของดวงจันทร์เป็นวงรี ดวงจันทร์จะส่งแรงไทดัลต่อโลกได้มากที่สุดเมื่อดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุด


ซึ่งทั้งสองเงื่อนไขนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคมพอดี เนื่องมาจากเป็นปรากฏการณ์ supermoon ทำให้ทางทีมงานกู้เรือในคลองสุเอซ พยายามใช้โอกาสที่ระดับน้ำขึ้นลงสูงสุดในช่วงนี้ ในการพยายามกู้เรือเฮือกสุดท้าย


ด้วยระดับน้ำที่ขึ้นสูงกว่า 2 เมตรในช่วงน้ำขึ้นสูงสุด เมื่อคิดจากขนาดเรือ 400x56 เมตร เราจะพบว่าน้ำที่ขึ้นมา 2 เมตรนี้เทียบเท่าได้กับแรงลอยตัวที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 45,000 ตัน
 

พูดง่ายๆ ว่าถ้าหากเราไม่สามารถลากเรือออกมาได้ในช่วงน้ำขึ้นสูงสุดในวัน supermoon แล้ว คงจะไม่มีวันที่จะสามารถลากเรือออกมาได้อีกต่อไป ซึ่งก็คงจะต้องหันไปใช้ทางเลือกอื่น เช่น การยกตู้คอนเทนเนอร์ออกจากเรือ ก่อนที่จะพยายามลากออกไปอีกครั้ง


แต่แล้วในที่สุด เรือ Ever Given ก็สามารถกลับมาลอยลำได้อีกครั้ง และในที่สุดคลองสุเอซก็สามารถกลับมาใช้งานได้อีกครั้งหนึ่ง


แน่นอนว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้นั้น ไม่ได้มาจากผลของ supermoon เพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นจากการทำงานแก้ปัญหาไม่หยุดหย่อนของทีมงานกู้เรือ ตั้งแต่การขุดลองคลองบริเวณใต้เรือ การขุดดินด้วยรถตักคันจิ๋ว (ที่เรามักจะเอาไปทำเป็นมีมกัน) ไปจนถึงเรือลากจำนวนมากที่คอยผลักดัน


แต่อย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลย ก็คือการที่ทีมงานมีความรู้ความเข้าใจทางด้านดาราศาสตร์เกี่ยวกับ supermoon และน้ำขึ้นน้ำลง นั้น ทำให้ทีมงานมั่นใจได้ว่าเขาสามารถใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่ ในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด


เรียบเรียงโดย : ดร. มติพล ตั้งมติธรรม - ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ สดร.