31 มีนาคม 2564 นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วยนายกีเซปเป้ บูซินี่ (Dr. Giuseppe Busini) อัครราชทูต รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และนายฌาณ เชียร์ (Mr. Jan Scheer) อัครราชทูต รองหัวหน้าปฏิบัติการและหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทยร่วมเป็นประธานในการเปิดตัว
โครงการนำร่อง ภายใต้ “โครงการลดขยะพลาสติกและขยะทะเลในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในภูมิภาค” ณ ห้องประชุมฟูจิ 1 ชั้น 4 โรงแรมนิกโก้ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานพันธมิตรที่ร่วมดำเนินการในระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น ของพื้นที่โครงการนำร่องในจังหวัดตรัง ภูเก็ต และระยอง เข้าร่วมงาน
นางสาวปรีญาพร กล่าวว่า การดำเนินโครงการนำร่อง “โครงการลดขยะพลาสติกและขยะทะเลในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในภูมิภาค” เป็นความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมมลพิษ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป (European Union: EU) และกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ)
รวมทั้ง ความร่วมมือจากเครือข่ายของหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดตรัง จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดระยอง โครงการดังกล่าวฯ เป็นการดำเนินงานที่มีเป้าหมายสอดคล้องกับวาระแห่งชาติเรื่องนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการใช้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือ BCG Model รวมทั้ง Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 และ แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2563 – 2565 ประกอบด้วย 3 โครงการ ดังนี้
1. โครงการส่งเสริมรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับท้องถิ่น เพื่อปรับปรุงรูปแบบและนโยบายด้านการจัดการขยะ ในพื้นที่ตำบลเกาะลิบง จังหวัดตรัง ดำเนินงานโดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) รูปแบบกิจกรรมมุ่งเน้นการส่งเสริมการจัดการขยะเทศบาลในพื้นที่ชุมชนชายฝั่งรวมถึงพื้นที่เกาะขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มอัตราการรีไซเคิล และลดการรั่วไหลไปสู่ธรรมชาติลงร้อยละ 30
2. โครงการจัดการและลดขยะพลาสติกภาคครัวเรือนและธุรกิจในจังหวัดภูเก็ต ดำเนินงานโดยมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมภูเก็ต เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกจากสถานประกอบการ ขยะชายหาด ชายฝั่งและคลองลงสู่ทะเล และเพื่อสร้างกลไกความร่วมมือในการลดปริมาณขยะพลาสติกและขยะทะเล มีพื้นที่ดำเนินโครงการในจังหวัดภูเก็ต คาดว่าจะมีการคัดแยกขยะและลดปริมาณขยะพลาสติก จากสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอย่างน้อยร้อยละ 60
และ 3. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกขยะพลาสติกจากบ้านเรือน เพื่อการรีไซเคิลแบบวงจรปิด ในพื้นที่จังหวัดระยอง ดำเนินงานโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการแยกขยะพลาสติก พัฒนาแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลขยะพลาสติกแบบวงจรปิด เพิ่มขีดความสามารถชุมชนต้นแบบและโรงเรียนนำร่องในการคัดแยกขยะพลาสติก พร้อมทั้งเสนอทางเลือกโดยผลักดันให้ผู้ผลิตเข้ามามีส่วนรับผิดชอบ (EPR) ในพื้นที่ คาดว่าจะมีชุมชนต้นแบบที่มีความสามารถในการคัดแยกขยะเพื่อการรีไซเคิลระบบวงจรปิดที่ขยายวงกว้างมากขึ้น
การขับเคลื่อนดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกทั้งบนบกและทะเล ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน และประชาชน ตลอดจนความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดยการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวและเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยเป็นเมืองที่น่าอยู่ และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นางสาวปรีญาพร กล่าว