เมื่อเดือนกันยายน 2560 กรมสรรพสามิตได้ประกาศเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีค่าความหวานหรือน้ำตาลมากกว่าที่กฎหมายกำหนด จนทำให้ภาษีจะสูงขึ้นประมาณ 2% จากที่เคยเก็บในขณะนั้นที่ 20% โดยอัตราการจัดเก็บภาษีช่วง 2 ปีแรกที่บังคับใช้วันที่ 16 ก.ย. 2560 ถึง 30 กันยายน 2562 ในกลุ่มเครื่องดื่มน้ำผลไม้และน้ำพืชผัก หากมีน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตรจะไม่เสียภาษี
ต่อมามีการจัดเก็บระยะที่ 2 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2564 ได้เพิ่มอัตราการเก็บภาษีต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตรมากยิ่งขึ้น โดยเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่เกิน 10 กรัมยังคงเดิม แต่เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัมจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นสูงสุด 4 เท่าตัว
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ถือเป็นความพยายามในการปรับพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย เพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดต่อไม่เรื้อรัง ทางเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูง ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ดร.สิรินทร์ยา พูลเกิด ได้ทำการสํารวจการบริโภคเครื่องดื่ม ที่มีรสหวานของคนไทยภายหลังการออกมาตรการเก็บภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่มที่มีรสหวาน เกี่ยวกับความรู้ ปริมาณ และความถี่ของการบริโภคเครื่องดื่มที่มีนํ้าตาล และการรับรู้ต่อการเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีนํ้าตาล
การศึกษาวิจัยนี้ครอบคุลมประชากรทั่วทุกภาคในทุกกลุ่มวัยรวม 11,553 คน พบว่า ความรู้เกี่ยวกับปริมาณนํ้าตาลที่ควรบริโภคต่อวัน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 81.9 ไม่ทราบว่า “ปริมาณนํ้าตาลที่บริโภคต่อวัน คือ ไม่ควรเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน” มีเพียงร้อยละ 18.1
ขณะที่ปริมาณของการดื่มเครื่องดื่มที่มีนํ้าตาลทุกประเภทเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 519.3 มิลลิลิตร หรือเกือบเท่ากับน้ำดื่มบรรจุขวดขนาดเล็กที่มีปริมาณความจุ 600 มิลลิลิตร ส่วนนํ้าอัดลม ดื่มเฉลี่ยต่อวันมากที่สุดเท่ากับ 281.8 มิลลิลิตร (หรือประมาณครึ่งขวดขนาดกลาง 550 มิลลิลิตร)
ส่วนการรับรู้ต่อการเก็บภาษีฯ ของรัฐนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 38.7 คิดว่า ราคาเครื่องดื่มประเภทชาเขียวหรือนํ้าอัดลมในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.9 เชื่อว่าเครื่องดื่มยี่ห้อที่ตัวเองดื่มลดปริมาณนํ้าตาลลง
แต่ก็มีกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 15-59 ปี ถึงร้อยละ 40.3 คิดว่า ผู้ผลิตเครื่องดื่มที่มีรสหวานยังคงใส่ปริมาณนํ้าตาลเท่าเดิม ประเด็นเรื่องราคาเครื่องดื่มกับการตัดสินใจในการเลือกซื้อนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 43.7 คิดว่า ราคาเครื่องดื่มไม่มีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกซื้อ
สำหรับการจัดเก็บภาษีในเครื่องดื่มที่เติมนํ้าตาลเกินกว่าที่กําหนด มีเพียงร้อยละ 19.2 ของกลุ่มตัวอย่างที่รับรู้ว่า หน่วยงานภาครัฐได้มีการจัดเก็บภาษีในเครื่องดื่มที่เติมนํ้าตาลเกินกว่าที่กำหนด และประชาชนมากกว่า 3 ใน 5 ของกลุ่มตัวอย่างคิดว่า หน่วยงานภาครัฐยังให้ข้อมูลเรื่องการจัดเก็บภาษีในเครื่องดื่มที่เติมนํ้าตาลกับประชาชนไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีความหวานในระยะที่ 3 ซึ่งจะเริ่มในเดือนตุลาคมปีนี้นั้น ล่าสุดทางกรมสรรพสามิตได้เลื่อนปรับขึ้นภาษีออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อบรรเทาภาระของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ เพราะช่วงนี้ทุกๆ ส่วนล้วนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ในระยะที่ 3 นี้ เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัมจะปรับอัตราภาษีขึ้นเป็น 0.30 บาทต่อลิตร จากเดิม 0.10 บาทต่อลิตร หากมีน้ำตาล 8-10 กรัมก็จะปรับเป็น 1 บาทต่อลิตรจากเดิม 30 สตางค์ แต่ถ้ายังคงไว้ซึ่งน้ำตาล 10-14 กรัมต่อลิตรก็จะปรับเพิ่มจาก 1 บาท เป็น 3 บาทต่อลิตร ส่วนเครื่องดื่มหวานจัดน้ำตาล 14-18 กรัม จะปรับขึ้นจาก 3 บาท เป็น 5 บาทต่อลิตร
ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข รักษาการในตำแหน่งทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านทันตสาธารณสุข) ในฐานะผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ให้ความเห็นว่า การขึ้นภาษีรอบแรกมีมาตั้งแต่ปี 2560 เท่ากับว่าผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวถึง 4 ปี
โดยในรอบแรกตั้งแต่ปี 2560 เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงไม่เกิน 10 กรัมจะเสียภาษีน้อยมาก พอรอบที่สองน้ำตาลไม่เกิน 10 กรัมก็ยังเสียไม่มากนัก ส่วนรอบที่สามที่จะเริ่มในเดือนตุลาคมนี้ จึงเท่ากับว่าผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวนานพอสมควร หากปรับสูตรเครื่องดื่ม เพื่อไม่ให้มีน้ำตาลไม่เกิน 6% ก็ไม่ต้องเสียภาษีเลย
“ที่สำคัญเป็นเป้าหมายของเราในการขึ้นภาษี ก็เพื่อให้ผู้บริโภคซื้อของแพงขึ้น ซึ่งของที่ว่านี้ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายแต่อย่างใด เพราะเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นในชีวิต หากกินหวานมากเกินไป ก็เป็นแหล่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรค NCDs) โรคกลุ่มนี้เป็นง่าย แต่ตายยาก เมื่อเป็นแล้วคนในครอบครัวต้องเสียเวลามาดูแลอีก อย่างเบาหวาน คนที่เป็นต้องกินยาตลอดชีวิตและต้องระมัดระวังตัวตลอดเวลา” ทพญ.ปิยะดา ระบุ
ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ระบุด้วยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานได้รณรงค์สร้างความรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคหวานของคนในสังคมต้องมาอย่างต่อเนื่องในทุกโอกาสและช่องทาง ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศ โดยเฉพาะความกล้าหาญในการจัดการด้านภาษี เพื่อให้คนในประเทศบริโภคหวานน้อยลง
“เราต้องรู้ก่อน ว่ากินหวานแล้วอ้วน เรื่องนี้สำคัญ จากนั้นก็จะนำไปสู่เรื่องของการจัดสิ่งแวดล้อมในบ้าน ต้องไม่มีสิ่งของที่เรียกว่าของหวานอยู่ในตู้เย็น เมื่อเริ่มได้แบบนี้แล้ว ความรู้ที่มีก็จะส่งต่อไปยังชุมชนทำกติการ่วมกัน หรือจัดสิ่งแวดล้อมไม่ให้เอื้อต่อการกินหวาน อย่างในโรงเรียนก็อย่าให้มีน้ำอัดลมและขนมกรุบกรอบขาย เป็นต้น” ทพญ.ปิยะดา กล่าว
แม้ว่ามาตรการภาษีจะช่วยส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อการลดความเสี่ยงจากโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ แต่การให้ความรู้กับประชาชนในการบริโภคก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ซึ่งวันนี้คนไทยจำนวนมากก็หันมารับประทาน “หวานน้อย” กันมากขึ้นแล้ว