วันที่ 5 เมษายน 2564 เพจเฟซบุ๊ก GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) โพสต์ข้อมูลและภาพถ่ายดาวเทียม ข้อความระบุว่า จากสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้จุดความร้อน และปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ลดลง
GISTDA เฝ้าติดตามสถานการณ์ PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง เช้านี้พบว่า ข้อมูลภาพจากดาวเทียมฮิมาวาริ (Himawari) และดาวเทียมอื่นๆ ของวันที่ 5 เมษายน 2564 เช้านี้ เวลา 09.00 น. พบคุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุภาพ (สีแดง) ในบางพื้นที่ที่ภาคเหนือ และคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) สลับกับคุณภาพอากาศปานกลาง (สีเหลือง) ในบริเวณภาคเหนือตอนบน โดยมีพื้นที่เพียง 2 จังหวัดเท่านั้น ที่พบค่า AQI สูงเกินมาตรฐาน ได้แก่ #แม่ฮ่องสอน AQI 162 รองลงมาที่ #เชียงราย AQI 113 สำหรับพื้นที่อื่น ๆ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ พบคุณภาพอากาศค่อนข้างดีหลายพื้นที่ สาเหตุมาจากประเทศไทยมีพายุฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วทั้งประเทศ
ส่วนปริมาณจุดความร้อนที่เกิดขึ้นวานนี้ วันที่ 4 เมษายน 2564 โดยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) พบจุดความร้อนทั้งประเทศเพียง 26 จุด โดยจุดความร้อนที่พบแบ่งเป็น พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 8 จุด พื้นที่เกษตร จำนวน 8 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่น ๆ จำนวน 7 จุด และ พื้นที่เขต สปก. จำนวน 3 จุด ตามลำดับ
สำหรับจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านก็ลดลงเช่นกัน โดยสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์มาเป็นอันดับหนึ่ง พบจุดความร้อนจำนวน 1,294 จุด รองลงมาเป็นราชอาณาจักรกัมพูชา จำนวน 494 จุด และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 484 จุด ตามลำดับ จากกระแสลมใต้และลมตะวันออกเฉียงที่พัดปกคลุมประเทศไทยส่งผลให้พื้นที่แถบแนวชายแดน อาจจะได้รับผลกระทบจากหมอกควันและฝุ่นละอองอยู่บ้าง
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงได้ GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://fire.gistda.or.th และ http://pm25.gistda.or.th/
ที่มา : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สภาพอากาศวันนี้ มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตกบางพื้นที่
กรมอุตุนิยมวิทยา เตือนฉบับที่ 15 ระวัง"พายุฤดูร้อน" ลมกระโชกแรง-ฝนตกหนักบางแห่ง