เฟสบุ๊กบีทีเอส เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซีแจ้งว่า ตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินของส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา
บริษัทฯ ขอกราบขอบพระคุณ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้แถลงถึง แนวทางในการดำเนินการแก้ปัญหาดังนี้ โดยกล่าวว่า “ในเรื่องของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผมก็ทราบถึงความเดือดร้อน ผมเอาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลักในการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะฉะนั้น ขณะนี้ขั้นตอนก็เหลือเพียงอยู่อย่างเดียวคือนำเรื่องเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้วนำไปสู่เรื่องการเจรจา ที่มีการพูดคุยกันบ้างแล้ว” นายสุรพงษ์ กล่าวว่า วันนี้บริษัทฯ ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกเรื่อง “ชี้แจงข้อเท็จจริงการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ให้ประชาชนได้รับทราบว่าที่ผ่านมา บริษัทฯ เข้าใจถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินของรัฐบาล ซึ่งกรุงเทพมหานครได้แบกรับค่าก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก และค่าโดยสารไม่สูงจนเกินไป โดยภาระหนี้ที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในช่วงส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) เป็นหลัก ประกอบด้วย ค่าระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ค่าจ้างเดินรถ ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควรที่กรุงเทพมหานครโดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ไม่ได้ชำระค่าจ้างเดินรถ ทั้งนี้บริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชน จะเข้าใจถึงปัญหาที่เราต้องเผชิญ และได้พยายามอย่างที่สุด ที่จะร่วมรับผิดชอบ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขข้อขัดข้องที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ขอขอบคุณผู้โดยสารทุกท่านที่ให้การสนับสนุน และจะพยายามทำทุกวิถีทาง ที่จะดูแลผู้โดยสารทุกท่านอย่างดีที่สุด
ล่าสุด วันที่ 10 เมษายน 2564 นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้อัดคลิปออกมาแถลงเรื่องนี้ว่า ตามที่สื่อนำเสนอข่าวเรื่องการแก้ปัญหาภาระหนี้สินที่รัฐบาลที่ กทม. แบกรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย เพื่อทำให้ประชาชนได้รับความสะดวก และค่าโดยสารไม่สูงเกินไป รวมทั้งสิ้นกว่าแสนล้านบาท
ทั้งนี้ มีการเสนอให้บริษัทแบกรับหนี้ของรัฐบาลและ กทม. จำนวน 1 แสนล้านบาท เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดิน โดยแลกกับการอนุญาตสัมปทานการเดินรถอีก 30 ปี ทั้งนี้ต้องกำหนดค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาทเท่านั้น และต้องแบ่งรายได้ให้ กทม. อีก 30 ปี ซึ่งข้อเสนอนี้ อยู่ใน ครม. นานแล้ว แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบ
ขณะเดียวกัน บริษัทก็ให้ความร่วมมือมาโดยตลอด และทางบริษัท กรุงเทพธนาคม ก็ไม่ได้ชำระค่าจ้างเดินรถ จนมีภาระหนี้ติดค้างตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 จำนวนเกือบ 9,602 ล้านบาท และค่าระบบการเดินรถอีกราว 20,768 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 3 หมื่นล้านบาท เป็นภาระหนี้ที่เกินกว่าบริษัทจะรับได้ ดังนั้นจึงขอส่งหนังสือทวงหนี้ แต่ผู้ที่รับผิดชอบก็ไม่จ่ายเงินแต่อย่างใด
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น หากไม่ได้รับการแก้ไข จะส่งผลกระทบในอนาคตโดยเฉพาะผู้โดยสารและประชาชนที่ใช้บริการ พร้อมทั้งขอบคุณที่ประชาชนสนับสนุนตลอด 21 ปีที่ผ่านมา และขอยืนยันจะพยายามดูแลผู้โดยสารให้ดีที่สุด ตบท้ายด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาจากหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ บริษัทไม่สามารถแก้ไขได้เพียงลำพัง ดังนั้นจึงขอชี้แจงประชาชนไว้ก่อน